เคล็ดลับทำงานผนังปูนให้แข็งแรง ไม่แตกร้าว at iURBAN

เคล็ดลับทำงานผนังปูนให้แข็งแรง ไม่แตกร้าว

เคล็ดลับทำงานผนังปูนให้แข็งแรง ไม่แตกร้าว

6 อย่าทำ 10 ต้องทำ

เมื่อพูดถึงบ้าน องค์ประกอบสำคัญของบ้านอย่างหนึ่งก็คือ “ผนัง” ไม่ว่าจะเป็นบ้านแบบไหน สไตล์ไหน จะเป็นสไตล์Loft โชว์เนื้อแท้วัสดุ อย่างอิฐ ปูน สไตล์โมเดิ้น เน้นสีขาวสะอาดตา หรือแนวคันทรี เล่นสีสันที่ผนัง ก็มักจะหนีไม่พ้นผนังที่ต้องใช้ปูนเป็นส่วนประกอบสำคัญ ดังนั้นนอกจากจะให้ความสำคัญกับแบบบ้าน คนรักบ้านอย่างเรา ถ้าคิดจะตกแต่งต่อเติมหรือสร้างบ้านจึงควรมีความรู้ในเรื่องพื้นฐานสำคัญๆอย่างผนังปูนกันไว้

IMG_6266.JPG

 

วันนี้ iUrban เลยจะนำเสนอ เกร็ดความรู้เกี่ยวกับการทำงานผนังปูนทั้งก่อ และฉาบ ทำอย่างไรให้ผนังปูนมีความแข็งแรง ทนทาน ไม่แตกร้าว อายุการใช้งานยาวนาน รู้ไว้แม้ไม่ได้ลงมือด้วยตัวเอง ก็จะได้แนะนำช่างที่เราจ้างมา ให้ทำงานได้อย่างถูกต้อง
อ่านให้จบนะคะ แล้วคุณจะเข้าใจว่างานปูนไม่ใช่งานที่จะทำยังไงก็ได้ หรือทำชุ่ยๆ มันเป็นงานระดับฝีมือ หรือที่เรียกว่า Craftmanship จริงๆ ต้องใส่ใจ เอาใจใส่พอสมควร อ่านจบแล้วคุณก็จะเข้าใจว่าทำไม งานผนังปูนหลายๆที่จึงมีปัญหามากนัก เริ่มกันตั้งแต่ต้นก่อนลงมือสร้าง เพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาดีกว่าค่ะ ขอขอบคุณข้อมูลดี ๆ จำไม่ยาก เทคนิค “6 อย่าทำ 10 ต้องทำ” กับงานปูน โดยอาจารย์สำเริง ฤทธิ์พริ้ง วิศวกรผู้เชี่ยวชาญด้านงานก่อสร้าง มาเริ่มกันที่10ต้องทำกันก่อนเลยค่ะ

10 ต้องทำ เพื่อผนังปูนแข็งแรง ไม่แตกร้าว มีอะไรบ้าง

1. ต้องนำอิฐแช่น้ำก่อนก่อ 1 ชั่วโมง

5427385700f9e

เราจะเห็นได้ค่อนข้างบ่อยว่าพี่ช่าง มักจะมีการนำอิฐไปแช่น้ำในถัง หรือใช้สายยางฉีดน้ำเพื่อให้อิฐเปียก วิธีการนี้จะช่วยให้อิฐอิ่มน้ำ อิฐจะได้ไม่มีการแย่งน้ำจากเนื้อปูนก่อ ทำได้ทั้งการรดน้ำให้ชุ่ม หรือแช่น้ำเลยก็ได้ แต่ก่อนจะนำมาใช้งานก่อ ต้องผึ่งลมให้ผิวด้านนอกหมาดตัวดีเสียก่อน แล้วจึงนำมาใช้งานต่อไป..เป็นงานที่ต้องพิถีพิถันมากทีเดียวนะเนี่ย..

2. ต้องก่อสลับแนว

แม้ว่าผนังทั่วไปจะเน้นการก่อแบบครึ่งแผ่นอิฐ หรือก่ออิฐแถวเดียวซึ่งดูไม่น่าจะมีอะไรซับซ้อนมากนัก แต่ก็ควรก่อสลับแนว เพื่อการยึดประสานกันระหว่างชั้นอิฐ ให้ผนังออกมามีความแข็งแรง ทนทาน

5427380c72ab4

วิธีการก่ออิฐมีหลากหลายวิธีการ ทั่วไปนิยมใช้การก่อแบบ “ครึ่งแผ่นอิฐ” แต่ทุกวิธีการ จะเน้นการก่อสลับแนวเพื่อช่วยให้ผนังที่ออกมามีความแข็งแรงยิ่งขึ้น

3. ต้องไม่ให้ชั้นปูนก่อหนาเกิน 1.5 เซนติเมตร

ในกรณีที่ใช้อิฐมอญ และอิฐบล็อค ชั้นปูนก่อไม่ควรหนาเกิน 1.5 เซนติเมตร เนื่องจากจะทำให้สิ้นเปลืองเนื้อปูน และยังทำให้เกิดการทรุดตัวมากเกินความจำเป็นเมื่อชั้นปูนก่อเริ่มแห้ง (เป็นการทรุดตามปกติ ไม่เป็นอันตราย) และยังจะทำให้ผนังปัญหาโน้มเอียงไม่ได้ดิ่งได้อีกด้วย

ยกเว้นอิฐมวลเบา ที่ตัวเนื้อปูนเป็นปูนกาวพิเศษที่เสริมแรงยึดเกาะ ที่การก่อจะบางเพียง 2-3 มิลลิเมตรเท่านั้น

image

ชั้นปูนก่อ ไม่ควรหนาจนเกินไป เพราะจะเกิดการยุบตัวเมื่อปูนเริ่มแห้ง อีกทั้งยังทำให้สิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น

4. ต้องมีเสาเอ็นและคานทับหลัง

เสาเอ็นและคานทับหลัง ควรมีทุก ๆ ระยะความกว้าง 2.5 เมตร และความสูง 1.5 เมตร เพราะจะทำหน้าที่กระจายน้ำหนักของอิฐก่อผนัง และช่วยไม่ให้ผนังพังพับลงมาได้ ความกว้างของเสาเอ็นและคานทับหลังควรกว้างไม่น้อยไปกว่า 15 เซนติเมตร และหนาเท่ากับความหนาของอิฐ โดยควรมีการเสริมเหล็กโครงสร้างภายในก่อนการหล่อ เพื่อความแข็งแรงด้วย

เสาเอ็นและคานทับหลัง เป็นอีกส่วนที่ช่วยเรื่องความแข็งแรงให้กับผนัง

5. ต้องมีเสาเอ็นที่มุมกำแพง

เช่นเดียวกับเสาเอ็นที่แทรกตัวระหว่างกำแพง เสาเอ็นจะทำหน้าที่เป็นโครงให้ผนังยึด เราไม่ควรก่ออิฐเป็นมุมโดยไม่มีเสา เนื่องจากแนวอิฐจะไม่มีโครงอะไรให้ยึด และส่งผลต่อความแข็งแรงในระยะยาวได้

 

6. ต้องมีเสาเอ็นที่วงกบประตูและหน้าต่าง

ทุกช่องเจาะ ควรมีเสาเอ็นและคานทับหลังล้อมเป็นกรอบไว้ เพื่อช่วยเป็นโครงให้กับวงกบประตูหรือหน้าต่าง ซึ่งจะมีการขยับเขยื่อนจากการเปิดปิดตลอดเวลา ช่วยกระจายแรงกระทำต่อผนังอิฐ และไม่ควรลืมติดลวดตะแกรงกรงไก่ที่มุมวงกบด้วย เพื่อช่วยกระจายแรงให้กับชั้นปูนฉาบด้วย

 

ช่องเปิดทุกชนิด ควรมีเสาเอ็นและคานทับหลังเป็นกรอบไว้ เพื่อช่วยเรื่องความแข็งแรงด้วย

 

7. ต้องเสียบเหล็กหนวดกุ้งทุกระยะ

 ผนังอิฐที่แข็งแรง จะต้องมีตัวช่วยยึดชั้นก่ออิฐกับเสา ซึ่งเราใช้วิธีการเสียบเหล็กเส้นขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 6 มิลลิเมตร เสียบไปในเสาคอนกรีต ให้มีความยาวส่วนที่ยื่นออกมาไม่ต่ำกว่า 40 เซนติเมตร เพื่อยึดให้ผนังอิฐมีความแข็งแรง ไม่หลุดออกจากแนวเสา หรือล้มลงมา

8. ต้องรดน้ำอิฐก่อนการฉาบ

หลังจากก่อเสร็จแล้ว เราควรทิ้งช่วงให้ชั้นปูนก่อเซ็ทตัว ก่อนทำการฉาบต่อไป ซึ่งก่อนฉาบ 1 วัน ควรมีการรดน้ำให้ชุ่ม ทิ้งไว้ก่อน และรดน้ำซ้ำอีกครั้งในเช้าวันฉาบ เพื่อป้องกันอิฐแย่งน้ำจากเนื้อปูนฉาบ ซึ่งจะทำให้เกิดการแตกร้าวได้

image

การรดน้ำอิฐนั้น สามารถทำได้โดยการสาดน้ำ หรือฉีดน้ำก็ได้

9. ต้องใช้เครื่องผสมปูนฉาบ

แม้ว่าการใช้จอบแบบดั้งเดิมจะผสมปูนได้เช่นเดียวกัน แต่เนื้อปูนจะเข้ากันได้ดีกว่า หากเราใช้เครื่องมือผสม อย่างสว่านไฟฟ้าติดใบกวน หรือเครื่องผสม เพราะการตีเนื้อปูนด้วยเครื่องมือเหล่านี้ จะทำให้เนื้อปูนเข้ากันได้ดีกว่าการผสมด้วยมือ ช่วยให้เนื้อปูนทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

เครื่องผสมปูน ทำให้เนื้อปูนเข้ากันได้ดีกว่า

10. ต้องรดน้ำต่อไปอีกเพื่อบ่มผนัง

น้ำเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาความแข็งแกร่งของปูน ดังนั้น เพื่อให้เนื้อปูนมีน้ำเพียงพอต่อการทำปฏิกิริยานั้น ควรมีการรดน้ำผนังที่ฉาบเสร็จแล้วต่อไปอีกวันละอย่างน้อย 1 ครั้ง ตลอดระยะเวลา 3-7 วันหลังฉาบเสร็จ น้ำที่นองในไซท์งานจากการรดน้ำอาจจะทำให้การทำงานในส่วนอื่นลำบากไปบ้าง แต่ไม่ควรละเลย เพราะการทำงานในขั้นตอนนี้จะส่งผลต่อการป้องกันการแตกร้าว และความแข็งแกร่งของผนัง

 

การรดน้ำ ช่วยให้เนื้อปูนไม่เสียน้ำเร็วเกินไป จนเกิดการแตกร้าวลายงาได้ จึงเป็นอีกขั้นตอนที่ไม่ควรละเลย

เก็บ 10 check list นี้ไว้ตรวจการทำงานของช่าง แล้วมาดูกันว่าอะไรห้ามทำ ควรหลีกเลี่ยงอย่างยิ่งในงานปูน

6 ข้อ อย่าทำ!

1. อย่าก่ออิฐภายในวันเดียว

งานก่ออิฐเป็นงานที่ส่งผลต่อความแข็งแรงของผนัง แม้ว่าอาจดูเป็นงานที่น่าจะทำให้เสร็จได้ภายในวันเดียว แต่ปูนที่นำมาก่อนั้น จำเป็นต้องใช้เวลาในการเซ็ทตัวและพัฒนาความแข็งแรง รวมถึงน้ำที่ระเหยออกจากเนื้อปูนจะทำให้ปูนยุบตัวลงเล็กน้อย แม้จะเพียงไม่กี่มิลลิเมตร แต่ก็ส่งผลให้เกิดการแตกร้าวของผนังหลังฉาบได้เช่นกัน

ดังนั้นควรวางแผนให้มีการก่อผนังและมีระยะเวลาสำหรับหล่อเสาเอ็นและคานทับหลังเมื่อก่อได้ระยะความสูง หรือกระทั้งควรเว้นระยะชนท้องคาน เพื่อให้ปูนยุบตัว ก่อนมีการก่ออิฐชั้นสุดท้าย

เมื่อก่อได้ระยะจะต้องมาหล่อคานทับหลังและเสาเอ็นเพื่อถ่ายน้ำหนักของอิฐ เมื่อก่อจนจะถึงท้องคานด้านบน ควรเว้นช่องวางไว้ก่อนมาก่ออิฐหลังปูนยุบตัวแล้ว 3-4 วัน

2. อย่าก่ออิฐชนท้องพื้นสำเร็จของชั้นบน

เพราะพื้นสำเร็จมักจะให้ตัวได้ การก่อผนังจนชนท้องพื้นสำเร็จ จึงอาจทำให้เมื่อพื้นสำเร็จให้ตัว ทำให้เกิดแรงกดลงบนสันของผนัง แรงกดนี้จะทำให้เกิดการแตกร้าวของผนังได้

 

เมื่อเกิดการยุบตัวของพื้นคอนกรีตสำเร็จรูป หรือเกิดการให้ตัว น้ำหนักของด้านบนจะกดลงบนผนังในแนวดิ่ง เกิดเป็นรอยร้าวในแนวดิ่งลักษณะนี้ได้

 

3. อย่าก่ออิฐบนพื้นสำเร็จรูป หรือพื้นที่ไม่มีคานรับ

เพราะพื้นสำเร็จจะมีความสามารถในการให้ตัว และอาจไม่ได้แข็งแรงพอรับน้ำหนักของผนัง การก่ออิฐเสมือนการเอาน้ำหนักไปวางไว้บนแผ่นไม้ น้ำหนักยิ่งมากพื้นอาจจะมีการแอ่นตัว

หรือที่ร้ายแรงกว่า คือแผ่นพื้นสำเร็จจะแตกหัก วิศวกรควรออกแบบให้ผนังอิฐตั้งอยู่บนคานโครงสร้างที่มีการเสริมเหล็กและออกแบบส่วนผสมคอนกรีตให้รับน้ำหนักได้ เว้นแต่จะออกแบบไว้

 

4. อย่าฉาบเร็วเกินไป

งานฉาบเป็นงานที่ต้องอาศัยความพิถีพิถัน ช่างปูนกว่าจะสามารถทำงานฉาบได้อาจต้องมีประสบการณ์ด้านงานอื่นๆ มาเป็นเวลานานก่อนจะได้รับความไว้วางใจให้ทำงานฉาบ

คงจะผิดพลาดมหันต์ถ้าเราเร่งรัดขั้นตอนการฉาบกับงานที่คาดหวังความสวยงาม และความคงทนยาวนาน ควรใส่ใจขั้นตอนฉาบให้มาก เพราะเป็นเหมือนการปั้นแต่งผิวหน้าให้เรียบเนียน พร้อมสำหรับการตกแต่งในขั้นตอนสุดท้าย เราคงไม่อยากได้ผนังที่มีคลื่น นูนต่ำไม่เท่ากัน หรือมีเม็ดทรายโผล่ออกมาที่ผิวมากเกินไป

ซึ่งบางครั้ง การปิดผิวด้วยสี หรือกระเบื้องอีกชั้น ก็อาจจะไม่สามารถแก้ปัญหานั้นได้อีกแล้ว

งานฉาบเป็นงานที่ต้องอาศัยความพิถีพิถัน ค่อย ๆ บรรจงปั่นหน้าให้เรียบ ด้วยการสลัดน้ำและปั่นด้วยเกรียง คงไม่ดีแน่หากเร่งรัดขั้นตอนที่เสมือนการแต่งผิวหน้าของกำแพงให้เรียบสนิท

 

5. อย่าฉาบหนาเกินไป

แม้ว่าชั้นปูนฉาบจะเป็นชั้นที่ปิดผิวผนังให้ดูเรียบร้อย แต่ก็ไม่ควรฉาบให้หนาเกินไป เพราะชั้นปูนฉาบจะแห้งช้าลง ทำให้เป็นอุปสรรค์ต่อการทำงานได้ อีกทั้งจะก่อให้เกิดปัญหาเรื่องน้ำหนัก

หากจำเป็นจริง ๆ เช่น ผนังก่ออิฐมีการโน้ม หรือโน้มไปด้านหลังบางส่วน ทำให้ต้องเพิ่มความหนาของปูนฉาบ แนะนำให้เติมปูนในส่วนที่อิฐโน้มไม่ได้ดิ่งนั้นก่อน จากนั้นทิ้งไว้ให้ปูนเซ็ทตัว ก่อนจะฉาบปิดผิวหน้าให้ได้ระนาบ

 

โดยปกติ ช่างจะมีการจับปุ่ม หรือปั้นปูนตามเสา เพื่อหมายความหนาของชั้นปูนฉาบให้ได้ระนาบและแนวดิ่ง ซึ่งความหนาจะถูกกำหนดจากความหนาของวงกบประตูหรือหน้าต่าง แต่อาจปรับเปลี่ยนได้หากผนังที่ก่อไว้ มีความโน้มเอียง แต่ทั้งนี้ ชั้นปูนฉาบไม่ควรหนาเกินไปกว่า 1.5 เซนติเมตร

หากส่วนใดของผนังที่มีการโน้มเอียง จนทำให้ส่วนนั้นต้องฉาบหนากว่าปกติที่ควรจะหนาเพียง 1.5 – 2 เซนติเมตร ควรเติมปูนให้เต็มก่อน และทิ้งให้แห้ง ก่อนมาฉาบอีกครั้งหนึ่งให้เต็มทั้งแผง

6. อย่าเห็นแก่วัสดุราคาถูก

วัสดุก่อสร้าง เป็นสิ่งที่ใช้ประกอบขึ้นมาเป็นบ้านหรือสิ่งปลูกสร้างซึ่งต้องการความแข็งแรงทนทานใช้งานยาวนาน แต่ความจำกัดของงบประมาณอาจทำให้หลายคนเลือกวัสดุที่ราคาถูก และเน้นที่ความสวยงามเป็นหลัก

การทำให้ราคาถูกลงในหลายๆ ครั้งหมายถึงการลดคุณภาพให้เหลือแค่ระดับมาตรฐาน วัสดุราคาถูกอาจสามารถสร้างขึ้นเป็นบ้านหนึ่งหลังได้ แต่อายุการใช้งานอาจต่ำกว่าที่คาดหวัง ทำให้เมื่อเวลาผ่านไป อาจต้องมีการซ่อมแซม  

 

วัสดุที่แม้ดูไม่จำเป็นต้องจ่ายมากกว่า อย่างปูน แต่กลับส่งผลต่ออายุการใช้งานที่ยาวนาน ควรเลือกแบบที่เหนือกว่ามาตรฐาน และแบบที่ทั้งตลาดเชื่อถือ และเป็นที่เชื่อถือนะคะ

 

และนั่นคือเทคนิคทั้งหมดในการช่วยให้งานผนังปูนออกมาทนทาน สวยงาม ลดโอกาสแตกร้าวได้ดี ผนังปูนที่สวยงาม ก็ทำให้บ้านสวยดูดี โดยไม่ต้องทำอะไรมาก ในทางตรงข้าม บ้านที่มีปัญหาผนังปูนแตกร้าว แก้ไขได้ยาก บางครั้งถึงกับต้องทุบทำใหม่ จะเห็นว่าการทำผนังให้สวยงามไม่แตกร้าวและแข็งแรงทนทานนี่ ถือเป็นงานฝีมือจริงๆ ต้องใช้ทักษะและประสบการณ์

ต้องขอบคุณข้อมูลดีๆจากปูนเสือที่ทำให้เรื่องยากๆ แก้ปัญหาไม่ตก เป็นสูตรสำเร็จ จำได้ง่ายๆ แต่ถ้าใครอยากได้ทางเลือกเรื่องปูนซีเมนต์ที่ดี วีธีการเลือกปูนให้เหมาะกับงานที่คุณต้องการ เทคนิคงานปูนแบบต่างๆ รวมถึง DIY ที่ต้องใช้ปูน ลองเข้าไปดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.tigerbrandth.com มีครบทุกเรื่องน่ารู้ ปูนๆเลยค่ะ อ่านง่าย เห็นภาพชัดเจน
ขอบคุณภาพและข้อมูลประกอบจาก “ปูนเสือ” www.tigerbrandth.com และ www.facebook.com/TigerBrandTH

 

The post เคล็ดลับทำงานผนังปูนให้แข็งแรง ไม่แตกร้าว appeared first on iURBAN.

Credit: เคล็ดลับทำงานผนังปูนให้แข็งแรง ไม่แตกร้าว Web: iURBAN Fanpage: facebook.com/iURBAN.in.th

Comments

Popular posts from this blog

19 ป้ายโฆษณา (Billboard) สุดครีเอทที่ออกแบบอย่างสร้างสรรค์จนต้องจำแบรนด์ได้ at iURBAN

สามารถตรวจสอบเครื่องสำอางค์เกาหลีว่าเป็นของแท้หรือไม่ผ่านทาง HiddenTag at iURBAN

DIY : อมยิ้มน้ำตาลคริสตัลแบบโฮมเมด at iURBAN