สายกินห้ามพลาด อาหารถิ่นทั่วไทย…ในงานเทศกาลเที่ยวเมืองไทย ปี 2560 at iURBAN

สายกินห้ามพลาด อาหารถิ่นทั่วไทย…ในงานเทศกาลเที่ยวเมืองไทย ปี 2560

งานนี้สายกินห้ามพลาด…การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้รวบรวมอาหารถิ่น อาหารโบราณหายากทั่วไทยมาไว้ที่สวนลุมฯ ในงาน“เทศกาลเที่ยวเมืองไทย ประจำปี 2560” ครั้งที่ 37 ระหว่างวันที่ 25-29 มกราคม 2560 เวลา 14.00 – 22.00 น. ณ สวนลุมพินี บริเวณโซนของดี 50 เขต และอาหารถิ่น 5 ภาค

ภูมิภาคภาคเหนือ

  • ยำไข่น้ำแร่แจ้ซ้อน จังหวัดลำปาง : อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดลำปาง และเมื่อมาถึงอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อนแล้วต้องสั่ง “ยำไข่น้ำแร่ แจ้ซ้อน” ซึ่งเป็นสูตรของหม่อมราชวงศ์ถนัดศรีฯ ครั้งที่มาเที่ยวที่นี่และได้คิดค้นเมนูจานเด็ดนี้ขึ้นมาสำหรับน้ำพุร้อนแจ้ซ้อนโดยเฉพาะ
  • กระบองทอด อ.ลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ : นำหน่อไม้ที่ได้จากท้องถิ่น นำมาต้มและแกะเปลือกออก หลังจากนั้นนำมากรีดให้เป็นทางยาวยัดไส้ด้วยหมูสับที่ปรุงรสแล้ว เสร็จแล้วนำไปชุบแป้งแล้วก็ทอด จนมีสีเหลืองสวยน่ารับประทาน เคล็ดลับเวลาทานกระบองทอด ต้องทานคู่กับน้ำจิ้มสูตรพิเศษ หากใครไปจังหวัดอุตรดิตถ์ แล้วไม่ได้ไปทานกระบองทอด ถือว่ายังมาไม่ถึงอุตรดิตถ์
  • ขนมจีนน้ำย้อย จังหวัดแพร่ : ขนมจีนน้ำย้อยเมืองแพร่ มีแหล่งกำเนิดจาก อำเภอลอง จังหวัดแพร่  โดยการนำแป้งขนมจีนที่สดๆบีบลงหม้อต้มน้ำร้อนๆพอสุกก็ตักขึ้นสะเด็ดน้ำ คนเมืองเรียกว่าน้ำย้อย นำมาคลุกน้ำพริกที่ปรุงรสครบเครื่อง รสชาติกลมกล่อม แล้วเหยาะน้ำปลา คลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วทานได้เลย แห้งๆ แบบผัดไท โดยจะมีผักเคียงตามชอบเช่น ถั่วฝักยาว ถั่วงอกสดหรือลวก และเพิ่มไข่ต้มยางมะตูม ก็อร่อยแบบมีคุณค่าทางโภชนาการด้วยซึ่งปัจจุบันเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวราคาไม่แพงหารับประทานได้ง่าย
  • ไก่ทอดมะแขว่น จังหวัดน่าน : ไก่ทอดมะแขว่น กำเนิดขึ้นที่ร้านปองซา เป็นอาหารพื้นเมืองที่นำมาประยุกต์ให้เหมาะสมกับปัจจุบันโดย ดร.ทวน อุปจักร เจ้าของบ่อเกลือ วิว รีสอร์ท ทำเมนูไก่ทอดเกลือ โดยใช้เกลือสินเธาว์ จาก อ. บ่อเกลือ ในเวลาต่อมา มะแขว่นเป็นพืชที่ปลูกมากใน อ.บ่อเกลือ จึงมีแนวคิดที่จะแนะนำมะแขว่นให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างจึงได้นำมะแขว่นมาเป็นหนึ่งในส่วนผสมหลัก
  • ส้มตำไหลบัว จังหวัดนครสวรรค์ : เป็นเมนูหาทานยาก ไหลบัวเป็นส่วนของหน่อบัว ลักษณะแข็งกดไม่ยุบ แตกต่างจากสายบัว นำมาทำส้มตำไหลบัวเมนูยอดฮิต แกงส้ม เป็นสมุนไพรไทย ช่วยแก้อ่อนเพลียและบำรุงหัวใจ

ภูมิภาคภาคตะวันออก

  • ข้าวกระยาคู จังหวัดนครนายก : ข้าวยาคูหรือข้าวระยาคู คือข้าวอ่อนที่ยังเป็นน้ำนมอยู่ เปลือกมีสีเขียวอ่อนๆ ต้องคั้นสดๆ ทันทีที่ตัดจากต้น น้ำข้าวยาคูมีลักษณะสีเขียวอ่อนๆ ข้นแบบน้ำนม เป็นขนมไทยโบราณที่ปัจจุบันหาดู และหารับประทานได้ยากยิ่งนัก เนื่องจากเป็นขนมที่จะทำได้เฉพาะช่วงก่อนฤดูการเก็บเกี่ยวข้าวนาปี ขั้นตอนการเตรียมวัตถุดิบมีความเกี่ยวพันกับความเชื่อตามวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนไทยใน   เรื่องการนับถือ  “แม่โพสพ” จึงทำให้ขนมชนิดนี้ มีความพิเศษไม่เหมือนใคร เวลารับประทานราดด้วยน้ำกะทิเล็กน้อย รสชาติหวานมัน กลมกล่อม
  • แกงส้มผักกระชับ จังหวัดระยอง : “กระชับ” หรือ กระฉับ ในสำเนียงระยอง เป็นผักพื้นบ้านที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน เป็นพืชสมุนไพรที่หายากมีปลูกเฉพาะที่บ้านทะเลน้อยนี้ อ.แกลง จ.ระยอง เท่านั้นถือเป็นหนึ่งเดียวในประเทศ กระชับมีลักษณะเป็นต้นอ่อนคล้ายถั่วงอก ลำต้นเป็นสีขาว ใบสีเขียว มีรสชาติเย็นหวานกรอบ มีความหอมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว สามารถนำไปประกอบอาหารได้หลายอย่าง เช่น แกงส้มผักกระชับ ยำผักกระชับ ผักกระชับผัดน้ำมันหอย หรือทานเป็นผักสดคู่กับน้ำพริก เคียงกับผัดไทยก็ได้
  • ปลาคก จังหวัดชลบุรี : ปลาคก เป็นอาหารประจำของชาวจังหวัดชลบุรี ทำจากปลาตะเพียน กับ น้ำต้มผักกาดดอง ตะไคร้ กระเทียม พริกแห้ง และเกลือ ใส่ปลาไว้บนสุด เคี่ยวบนไฟอ่อนๆ รวมกันกับน้ำเป็ดพะโล้ สำหรับรับประทานกับข้าวต้มหรือข้าวสวย แหล่งผลิตปลาคกที่มีชื่อเสียงของจังหวัดชลบุรี ซึ่งสามารถหาทานได้เฉพาะ พื้นที่เท่านั้น อาทิ ที่ตำบลบาง ปลาสร้อย เป็นต้น
  • ข้าวคลุกพริกเกลือ จังหวัดจันทบุรี : เป็นอาหารพื้นบ้านของจังหวัด จันทบุรี คำว่า “พริกเกลือ” ส่วนผสมของน้ำจิ้มที่จะตำพริกเกลือ กระเทียม รวมกันปรุงรสให้กลมกล่อม เรียกว่า”น้ำจิ้มพริกเกลือ” ที่ชาวจันทบุรีเรียกกัน หรือ น้ำจิ้มซีฟู้ด นำน้ำจิ้มซีฟู้ดมาคลุกกับข้าว จึงเรียกว่า “ข้าวคลุกพริกเกลือ” ข้าวคลุกพริกเกลือจะมีเครื่องเคียงที่รับประทานร่วมกัน เป็นอาหารทะเล อาทิ ปลาหมึก กุ้ง หอย แถมด้วยไข่ต้มและหมูต้มหรือหมูกรอบ เป็นอาหารจานที่ทานแล้วไม่เลี่ยนเพราะมีรสเปรี้ยว เค็ม เผ็ด ทำให้เจริญอาหาร เผาผลาญแคลอรี่ เรียกว่าเมนูนี้อร่อยครบเครื่องตามแบบฉบับของคนจันท์ ที่นักท่องเที่ยวได้มาจันทบุรี ต้องห้ามพลาดที่จะลิ้มลองเมนูชนิดนี้
  • น้ำพริกปลาสลิดบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ : ทำไมต้องเป็นปลาสลิดบางบ่อ เพราะปลาสลิดบางบ่อจะตัวอ้วนจ้ำม้ำกว่าปลาสลิดที่เอาไปเลี้ยงที่อื่นๆ เพราะว่าที่บางบ่อน้ำที่ใช้เลี้ยงปลานั้นจะเป็นน้ำกร่อยเกิดไรแดงได้ง่าย ไรแดงเป็นอาหารโปรดของปลาสลิดบางบ่อ ทำให้ปลากินอิ่มนอนหลับตัวโตจึงอร่อยตัวโตน่ากินกว่าที่อื่นๆ

ภูมิภาคภาคกลาง

  • ขนมเกสรลำเจียก จังหวัดอ่างทอง : “เกสรลำเจียก” เป็นขนมประจำจังหวัดอ่างทอง เป็นขนมเลื่องชื่อของเมืองวิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง จัดว่าเป็นขนมชาววังชนิดหนึ่ง  ว่ากันว่าเกสรลำเจียกเริ่มเผยแพร่เข้ามาในวิเศษชัยชาญตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 โดยสาวๆซึ่งล่องเรือไปค้าขายที่บางกอกในสมัยนั้นได้ไปรู้จักกับแม่ครัวที่ทำอาหารอยู่ในวัง และด้วยความสนิมสนมกันจึงได้สูตรขนมชาววังดังกล่าวมา และได้เผยแพร่ต่อๆกันมารุ่นแล้วรุ่นเล่าจนกลายเป็นขนมประจำเมืองวิเศษชัยชาญในที่สุด  ขนมเกสรลำเจียกทำจากแป้งข้าวเหนียวผสมน้ำกะทิ ร่อนผ่านตะแกรงลงในกระทะร้อนๆ เป็นแผ่นบาง ม้วนใส่ไส้มะพร้าวขูดกวนกับน้ำตาล ต้องรับประทานตอนร้อนๆ เนื้อแป้งจะนุ่มลิ้น รสชาติหวาน หอมกลิ่นใบเตย
  • ผัดหมี่ไทยวน จังหวัดสระบุรี : ผัดหมี่ไทยวน มีรสหวาน เส้นนุ่มสีแดงเข้ม เนื่องจากใช้มะเขือเทศสุกผัดรวมกับเส้นหมี่ ทำให้มองดูน่ารับประทานเป็นเอกลักษณ์ของผัดหมี่ ไทยวน ขณะที่ผัดหมี่ทั่วไปมักจะปรุงด้วยซอสสำเร็จรูป
  • กระเพราเต้าหู้ดำ จังหวัดราชบุรี : เชื่อว่าใครๆ ก็คงเคยกินเต้าหู้ขาวมาแล้ว แต่ที่จังหวัดราชบุรี มีแปลกกว่านั้น เรียกว่า เต้าหู้ดำ ที่ถือว่าเป็นอีกหนึ่งของกินระดับ OTOP ประจำถิ่นนี้เลยก็ว่าได้ เต้าหู้ดำคือการนำเต้าหู้ที่มีคุณภาพนำมาต้มในน้ำพะโล้ นานถึง 3 วัน จนได้รสชาติที่ออกมาเข้มข้น เป็นสูตรเฉพาะตัวของที่นี่ตั้งแต่การรับประทานเต้าหู้ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย จะกินเปล่าๆ หรือนำมาประกอบอาหาร ทั้งยำ ผัด ต้ม ทอด ก็อร่อยทุกรูปแบบ​
  • ทอดมันหน่อกะลา จังหวัดนนทบุรี : ชาวมอญบนเกาะเกร็ดใช้หน่อกะลามาประกอบอาหารเป็นเวลานานแล้ว โดยนำต้นหน่อกะลามาปอกเปลือกออกให้เหลือแต่เนื้อใน …จะนำมากินสดๆ หรือต้มจิ้มน้ำพริกก็ได้ นำไปทำเป็นแกงส้มก็อร่อย รวมไปถึงทอดมันหน่อกะลา ที่เป็นของกินขึ้นชื่อที่ใครๆกินแล้วก็บอกว่าอร่อยเป็นเสียงเดียวกัน นอกจากนำมาประกอบอาหารได้อร่อยแล้ว ต้นหน่อกะลายังมีสรรพคุณทางยา โดยช่วยแก้อาการท้องอืด แน่นเฟ้อ จุกเสียด และช่วยไล่ลมในร่างกายได้อีกด้วย
  • ปลาสร้อยสามแม่น้ำแดดเดียว จังหวัดกาญจนบุรี : หากพูดถึง “สามประสบ” แห่ง อ.สังขละบุรี นั่นหมายถึงบริเวณที่แม่น้ำสามสาย ได้แก่ แม่น้ำรันตี บิคลี่ และซองกาเลีย  ไหลมาบรรจบกัน ก่อเกิดเป็นแหล่งน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งของปลาแม่น้ำหลากสายพันธุ์ หนึ่งในนั้นคือ “ปลาสร้อย” ที่มีอยู่อย่างชุกชุม และได้ถูกนำมาแปรรูปเป็น “ปลาสร้อยแดดเดียว” หนึ่งในอาหารเลื่องชื่อของสังขละบุรี ที่กลุ่มพัฒนาสตรี หมู่ 3 บ้านไหล่น้ำ ต.หนองลู ได้ร่วมกันแปรรูปผลิตภัณฑ์ปลาสร้อยแดดเดียว จนผ่านมาตรฐาน อย. จากกระทรวงสาธารณสุข และยังได้รับการคัดสรรให้เป็นผลิตภัณฑ์คัดสรร OTOP ระดับ 5 ดาว  หากได้มาเที่ยวสังขละบุรี ลองสั่งเมนูนี้จากร้านอาหาร รับรองจะติดใจในความกรอบอร่อยที่สามารถทานได้หมดทั้งตัว จะทานเล่นเปล่า ๆ จะจิ้มกับซอสพริก หรือทานกับน้ำจิ้มซีฟู้ดก็อร่อยไม่แพ้กัน

ภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

  • ข้าวปุ้นน้ำงัว จังหวัดยโสธร : ขนมจีน(ข้าวปุ้น) กับน้ำซุปวัวที่ปรุงรสด้วย เกลือ ซีอิ๊วขาวกระเทียมดอง แล้วก็ใส่ รากผักชี ข่าแก่ อบเชย เม็ดผักชี เคี่ยวจนเนื้อเปื่อย รับประทานร่วมกับใบโหระพา ถั่วงอก หน่อไม้ และผักบุ้ง
  • ตำด๊องแด๊ง จังหวัดเลย : ส้มตำที่มีส่วนผสมของเส้น “ด้องแด๊ง” ที่ทำมาจากแป้งขนมจีนบีบให้มีลักษณะเหมือนเส้นลอดช่องหรือเส้นเกี้ยมอี๋
  • อังแก๊บบอบ จังหวัดสุรินทร์ : เป็นอาหารประเภท ย่าง เป็นอาหารที่ชาวเขมรและชาวกูย (กวย) นิยมรับประทาน เพราะได้รสเผ็ดร้อนจากพริก และได้ประโยชน์จากเครื่องปรุง ซึ่งเป็นสมุนไพรทั้งสิ้น) กบที่นำมาทำกบยัดไส้ต้องเป็นกบนาหรือกบธรรมชาติ ไม่ใช่กบเลี้ยง แต่ปัจจุบันกบนาได้หายากจึงใช้กบเลี้ยงแทนแต่จะมีรสชาติที่ไม่อร่อยเท่ากบนาหรือกบธรรมชาติ หาซื้อรับประทานได้ในเขตอำเภอเมือง อำเภอปราสาท อำเภอกาบเชิง และตลาดเขียว อบจ สุรินทร์ (ทุกวันเสาร์เช้า)
  • ยำแตร็ยปรัย (กุ้งจ่อม) จังหวัดบุรีรัมย์ : ประเภทอาหาร ดอง กุ้งจ่อมเดิมทีชาวประโคนชัยก็ทำ “ปลาจ่อม” จากปลาตัวเล็กตัวน้อยที่มีมากในช่วงฤดูน้ำหลาก ที่เพียงนำปลามาจ่อมก็สามารถเก็บไว้กินได้ทั้งปี และนอกจากปลาแล้วก็มีกุ้งฝอย ที่สามารถหาได้ง่ายตามแหล่งน้ำทั่วไป แล้วก็นำกุ้งฝอยมาจ่อมเพื่อเก็บไว้กินเช่นกัน จนมาในช่วงหลังๆ กุ้งฝอยที่หาได้ตามธรรมชาติเริ่มลดน้อยลง ไม่เพียงพอต่อการทำกินและทำขายเดิมใช้เกลือในการหมักต่อมาได้เปลี่ยนเป็นน้ำปลาอย่างดีโดยก่อนหมักทำความสะอาดกุ้ง แล้วนำไปขยำกับเกลือใส่ลงไปในไหหรือโอ่ง หมักทิ้งไว้ประมาณ 2-3 วัน จึงผสมกับข้าวคั่ว หมักต่อไป ประมาณ 5-6 วันก็นำมารับประทานได้
  • หมกเจาะ จังหวัดนครพนม : หมกเจาะหรือ หมกจ๊อ เป็นอาหารขึ้นชื่อของชาวไทญ้อ โดยเฉพาะในอ.ท่าอุเทน ถือว่าเป็นเมนูที่ขาดไม่ได้ในสำรับข้าว ทำจากเนื้อปลาตอง(ปลากราย) หรือ ปลาสลาด มาตำคลุกเคล้าผสมเครื่องปรุง ห่อด้วยผักม้วนแล้วนำไปนึ่ง

ภูมิภาคภาคใต้

  • โรตีชาชัก (3ชายแดน) จังหวัดปัตตานี : “ชาชัก” เป็นกระบวนการชงชานมให้เกิดฟองโดยไม่ต้องใช้เทคโนโลยี แต่มาจากการเทชาจากที่สูงลงภาชนะให้ตรงจังหวะจนเกิดฟองชานุ่มละมุน “ชา” (เตฮ์) ที่ถูก “ชักกะเย่อ” (ตาเระ) มีรสละมุนของฟองนมตามแบบฉบับการชงชาที่พบในคาบสมุทรมลายู พบร้านชาชักได้ทั่วไปในมาเลเซีย อินโดนีเซีย  สิงคโปร์และภาคใต้ของไทย
  • ยาวเย จังหวัดระนอง : ยาวเย เป็นหนึ่งในอาหารโบราณของชาวจีนฮกเกี้ยนที่ไปตั้งรกรากที่ปีนัง ก่อนที่จะเข้ามาระนองในยุคที่ท่านคอซูเจียงเจ้าเมืองระนองเชื้อสายจีนฮกเกี้ยนมาเป็นนายอากรเก็บภาษีจากเหมืองแร่เมื่อร้อยกว่าปีมาแล้วเดิมเรียกว่าโหยวหยี ภาษาจีนหมายถึง ปลาหมึก (เป็นอาหารที่มีส่วนประกอบของปลาหมึกแห้งต้มเป็นหลักนอกเหนือจากผักบุ้งลวก) ส่วนประกอบสำคัญดั้งเดิม ได้แก่ ผักบุ้งลวก หมึก เต้าหู้ทอด เนื้อปลาหรือ กุ้งต้มสุกหรือทอด ปาท่องโก๋หั่นขวาง โรยด้วยถั่วป่น งาคั่ว และกระเทียมเจียว ราดน้ำจิ้ม มีสองแบบผสมกันโดยแบบหนึ่งเป็นน้ำเชื่อม กับอีกแบบเป็นน้ำจิ้ม มีรสเปรี้ยว เผ็ด เค็ม เป็นหนึ่งในอาหารว่างเพื่อสุขภาพของเมืองระนอง ซึ่งทานแล้วไม่อ้วน
  • ขนมผูกรัก จังหวัดสตูล : ขนมขึ้นชื่อของทางจังหวัดสตูล ที่ชื่อว่า “ขนมผูกรัก” มีลักษณะเหมือนการผูกโบว์ ส่วนตรงกลางก็จะสอดไส้สมุนไพรต่างๆ อาทิ เนื้อปลา เนื้อกุ้ง และเนื้อปูตามความชอบ ซึ่งก็จะให้รสชาติกลมกล่อม กรุบกรอบ โดยแป้งที่ใช้ห่อเป็นแป้งเดียวกับแป้งห่อขนมเปี๊ยะที่มีความเหนียวสามารถม้วนเป็นเกลียวและไม่อมน้ำมัน
  • ข้าวนาซิดาแฆ จังหวัดปัตตานี : “นาซิดาแฆ”  สุดยอดอาหารเช้าที่ขึ้นชื่อของชาวไทยมุสลิม ซึ่งเรียกความสนใจจากนักชิมได้ไม่น้อย “นาซิดาแฆ” เป็นอาหารคาวชนิดหนึ่ง    มีลักษณะคล้ายข้าวมันไทย ใช้ข้าวสามชนิด คือข้าวเหนียว ข้าวเจ้า และข้าวซ้อมมือ นิยมทำเลี้ยงรับรองแขก หอมมันน่ารับประทาน ทานกับแกงกะหรี่ แกงไก่ แกงเนื้อ และแกงปลาโอสด ๆ แกงไข่ เป็นแกงกะทิที่มีส่วนผสมของเครื่องเทศกลิ่นหอม ชวนน่ารับประทาน
  • จอแหร้ง จังหวัดพังงา : ลักษณะคล้ายหลนปู เป็นการทำต้มกะทิกุ้งและตระไคร้ เป็นของชาวใต้ แถบพังงา ตะกั่วป่า เรียกว่าภาษาท้องถิ่น “จอแลง” ทั้งนี้กุ้งที่นำมาใช้จะเป็นกุ้งสดต้มกะทิใส่ตระไคร้ซอยในปริมาณที่เยอะมากและขมิ้นปรุงรสเปรี้ยวด้วยน้ำมะขามเปียกและใส (อ่อนที่ตะไคร้ที่ต้องซอยบางๆ ต้มจนเปื่อย) น้ำตาล เกลือ

ไม่เพียงเท่านี้ ในโซนท่องเที่ยววิถีไทย เก๋ไก๋สไตล์ลึกซึ้ง (หมู่บ้าน 5 ภาค) ยังคัดสรรอาหารถิ่นมาให้ลิ้มลองอีกมากมาย อาทิ หมู่บ้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : ม่วนอีหลีกับอาหารพื้นบ้านอีสานขนานแท้กับ ลานแซ่บนัว 21 ร้านค้า อาทิ เนื้อโพนยางคำ เนื้อนุ่ม ชุ่มลิ้น ของอร่อยถิ่นสกลนคร ได้รับความนิยมอย่างสูงทั้งจากคนไทย และต่างชาติ เนื่องจากเป็นเนื้อวัวคุณภาพดี ได้มาตรฐานและสามารถนำไปทำอาหารได้หลายเมนู บะหมี่ปลากะพงทอง  เพาะเลี้ยงปลากระพงที่บ้านดุง จ.อุดรธานี ชวนพิสูจน์ความอร่อยรสชาติปลากระพงจากน้ำทะเลกับปลากระพงน้ำจืด มหาลาภ 5 อย่าง ให้มาท้าพิสูจน์ หมู่บ้านภาคเหนือ : อิ่มอร่อยกับอาหารพื้นเมืองกว่า ๔๐ เมนู ได้แก่ น้ำเงี้ยวน้ำบุก จังหวัดเชียงราย เมี่ยงจอมพล จังหวัดตาก ข้าวเปิ๊บ จังหวัดสุโขทัย ยา9คุ้ง จังหวัดนครสวรรค์ เป็นต้น นอกจากนี้ภายในงานยังมีโซนสาหรับผู้ชื่นชอบกาแฟ นำเสนอกาแฟท้องถิ่นให้นักท่องเที่ยวได้ชิมและสร้างแรงบันดาลใจให้ออกเดินทางไปท่องเที่ยวสัมผัสเสน่ห์กาแฟน่าน หมู่บ้านภาคกลาง : พบกับ 15 ตลาดบก 16 ตลาดน้ำ ร้อยร้านอาหารอร่อย OTOP ดังของภาคกลาง การสาธิตอาหารถิ่น 5 อย่าง อาทิ เกสรลำเจียก ผัดหมี่ไทยวน ไส้กรอกปลาแนม ทอดมันหน่อกะลา และปลาสร้อยสาแม่น้ำแดดเดียว หมู่บ้านภาคตะวันออก : ยกเมนูอาหารทะเลสดๆจากจันทบุรีมาให้เลือกสรร อาทิ หอยเชลล์อบ ปลาหมอทะเลลวกจิ้ม กุ้งมังกร หมึกย่าง ปูม้า ปูทะเลต้ม กั้งแก้วนึ่ง หอยนางรมใหญ่สด  และของกินขึ้นชื่อของภาคตะวันออกมาให้เลือกซื้อ อาทิ น้ำปลาแท้ กะปิจากตราด กุ้งแม่น้ำเผา ข้าวหลามหนองมน สับปะรด ศรีราชา สละ ทุเรียนทอด เป็นต้น และหมู่บ้านภาคใต้ : พบสินค้าดีอาหารอร่อยในบรรยากาศตลาดใต้โหนด ซึ่งเป็นตลาดท้องถิ่นที่มีชื่อในจังหวัดพัทลุง สำหรับสายชิมห้ามพลาดเลยกับการจัด ประมูลล็อบเตอร์ตัวใหญ่ บุฟเฟ่ต์อาหารทะเลและอาหารถิ่นของภาคใต้ ขณะที่โซนเทศกาลตรุษจีน และแหล่งท่องเที่ยวไชน่าทาวน์ พลาดไม่ได้กับรสอาหารจีนต้นตำรับและอาหารมงคลในเทศกาลตรุษจีนจากสุดยอดเชฟจำนวน 20 คนของกรุงปักกิ่ง อาทิ ข้าวเหนียวม้วนไส้ถั่วแดง บะหมี่มือดึง บะหมี่เย็น เป็นต้น

พลาดไม่ได้ งานเทศกาลเที่ยวเมืองไทย 2560 ชมฟรีตลอดงาน ผู้เข้าร่วมงานสามารถเดินทาง ด้วยรถประจำทาง รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สถานีสีลม รถไฟฟ้า BTS สถานีศาลาแดง สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ๑๖๗๒ เบอร์เดียวเที่ยวทั่วไทย

 

The post สายกินห้ามพลาด อาหารถิ่นทั่วไทย…ในงานเทศกาลเที่ยวเมืองไทย ปี 2560 appeared first on iUrban.

Credit: สายกินห้ามพลาด อาหารถิ่นทั่วไทย…ในงานเทศกาลเที่ยวเมืองไทย ปี 2560 Web: iURBAN Fanpage: facebook.com/iURBAN.in.th

Comments

Popular posts from this blog

19 ป้ายโฆษณา (Billboard) สุดครีเอทที่ออกแบบอย่างสร้างสรรค์จนต้องจำแบรนด์ได้ at iURBAN

สามารถตรวจสอบเครื่องสำอางค์เกาหลีว่าเป็นของแท้หรือไม่ผ่านทาง HiddenTag at iURBAN

DIY : อมยิ้มน้ำตาลคริสตัลแบบโฮมเมด at iURBAN