เครือข่ายปฏิรูปการประกันตัวเพื่อคนจน ยื่นเสียงสนับสนุนจากประชาชนผ่านแคมเปญ “ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจน” at iURBAN

เครือข่ายปฏิรูปการประกันตัวเพื่อคนจน ยื่นเสียงสนับสนุนจากประชาชนผ่านแคมเปญ “ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจน”

เครือข่ายปฏิรูปการประกันตัวเพื่อคนจน ยื่นเสียงสนับสนุนจากประชาชนผ่านแคมเปญ ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจน เสนอคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม

เครือข่ายปฏิรูปการประกันตัวเพื่อคนจน จัดแถลงข่าวพร้อมเปิดเวทีเสวนาวิชาการ ปฏิรูปการประกันตัวเพื่อความเสมอภาคในสังคม: ร่วมกันแสวงหามาตรการทดแทนการขังระหว่างพิจารณา ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบการฝากขังและปล่อยชั่วคราวในประเทศไทย หวังลดความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม พร้อมเตรียมนำเสียงสนับสนุนจากแคมเปญ ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจน”  ที่จัดขึ้นผ่านช่องทาง Change.org/BailReform ไปยื่นต่อคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้บรรจุการใช้ระบบประเมินความเสี่ยงช่วยให้ศาลใช้เป็นเครื่องมือในการพิจารณาเพื่อการประกันตัวผู้ต้องหาโดยไม่ต้องใช้เงินเป็นตัวตัดสินให้เป็นหนึ่งในวาระแห่งชาติ

ผศ.ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปการประกันตัวเพื่อคนจน กล่าวถึงที่มาของ เครือข่ายปฏิรูปการประกันตัวเพื่อคนจนว่า  เครือข่ายฯ เกิดขึ้นจากการรวมตัวของกลุ่มบุคคลที่ต้องการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบการฝากขังและปล่อยชั่วคราวในประเทศไทยจากเดิมที่ใช้เงินเป็นตัวตัดสิน ไปสู่ระบบใหม่ที่ทำการวิจัยมาแล้วว่ามีความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม ด้วย “ระบบประเมินความเสี่ยง” ที่ไม่ว่าจะเป็นคนรวยหรือจนก็ต้องใช้แบบตรวจวัดเดียวกัน โดยเครือข่ายฯ ต้องการผลักดันประเด็นนี้ยื่นต่อคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม เพื่อบรรจุเป็นหนึ่งในวาระแห่งชาติ

“จากเดิมที่ระบบการประกันตัวของไทยในปัจจุบันนั้นใช้เงินเป็นตัวติดสินว่าใครจะต้องรอในคุก ระหว่างที่รอการพิจารณาคดี ซึ่งเฉลี่ยเวลาประมาณ 6 เดือน ถึง 1 ปี ทำให้คนจนหรือผู้มีรายได้น้อยไม่มีโอกาสในการซื้ออิสรภาพ ทั้งที่ตัวเองอาจจะไม่ได้ผิดเลย นี่เป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนที่เห็นได้ชัดเจน ทำให้มีวลีติดปากที่คนนำมาใช้กันบ่อยๆ ว่า “คุกมีไว้ขังคนจน” จากการวิจัยของสถาบันวิจัยและพัฒนารพีพัฒนศักดิ์ สำนักงานศาลยุติธรรม พบว่าที่ผ่านมาระบบการใช้เงินเพื่อประกันตัวนี้ทำลายชีวิตและโอกาสของคนจนกว่า 60,000 คนต่อปีคิดเป็นตัวเลขความเสียหายราว 8,500 ล้านต่อปี เนื่องจากเรือนจำจะมีค่าใช้จ่าย เช่น ผู้คุม ​อาหาร ค่าใช้จ่ายต่างๆ กว่า 2,500 ล้านบาทต่อปี รวมถึงคนที่ต้องเสียโอกาสในการทำงานสร้างรายได้ คำนวณแล้วมากถึง 6,000 ล้านบาทต่อปีและที่สำคัญการเรียกหลักประกันเป็นเงินไม่สามารถเป็นเครื่องมือในการวัดความเสี่ยงในการหลบหนี หรือกระทำผิดซ้ำได้อีก” ผศ.ดร. ปริญญากล่าว

จากการศึกษาและวิจัยของสถาบันวิจัยและพัฒนารพีพัฒนศักดิ์ สำนักงานศาลยุติธรรมในเรื่อง “วิธีประเมินความเสี่ยงและกำกับดูแลในชั้นปล่อยชั่วคราว” โดยนำแนวคิดมาจากหน่วยงานศาลในต่างประเทศ ได้แก่ การศึกษาจากศาลในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ใช้แบบตรวจวัดความเสี่ยงดังกล่าวในการพิจารณาปล่อยชั่วคราวตัวนี้ ซึ่งเปลี่ยนจากการใช้เงินเพื่อประกันตัวเป็นการใช้ความเสี่ยงในการหลบหนี โดยจะมีขั้นตอนในการประเมินความเสี่ยงและกำกับดูแล ดังนี้ หนึ่ง สอบถามข้อมูลตามแบบฟอร์ม ในการสอบประวัตินั้นทำโดยกรอกข้อมูลลงในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ซึ่งจะปรินท์ออกมาเป็นกระดาษอีกทีเพื่อให้ผู้ต้องหา/จำเลยลงชื่อไว้เป็นหลักฐานว่าเจ้าหน้าที่บันทึกถูกต้อง จากการทดลองใช้ระบบมาระยะหนึ่ง การสอบประวัติต่อคนใช้เวลาคนละไม่เกิน 20 นาที  สอง ตรวจสอบข้อมูลจากฐานข้อมูล เช่น ประวัติอาชญากรรม ประวัติยาเสพติด คดีค้างพิจารณา มาวัดความเสี่ยงในหารหลบหนี ซึ่งด้วยวัตถุประสงค์ของการประเมินความเสี่ยง คือ พิจารณาว่ามีความเสี่ยงจะหนีหรือกระทำความผิดซ้ำ มิใช่การแก้ไขบำบัดฟื้นฟู หรือกำหนดอัตราโทษที่เหมาะสม การตรวจสอบจึงไม่จำเป็นต้องละเอียดถึงขนาดลงพื้นที่ไปตรวจสอบอย่างคุมประพฤติ และด้วยธรรมเนียมปฏิบัติของศาลที่ต้องสั่งปล่อยชั่วคราวโดยเร็ว

และสาม ประเมินความเสี่ยงและทำรายงานเสนอศาล ข้อเท็จจริงทั้งหมดที่กรอกลงในโปรแกรมจะถูกนำมาคำนวณคะแนนความเสี่ยงที่สังเคราะห์จากงานวิจัยเชิงสถิติและพฤติกรรมศาสตร์  โดยมีมาตรการกำกับดูแลตามระดับความเสี่ยง ถ้ามีความเสี่ยงต่ำให้สาบานตัวแล้วปล่อย เสี่ยงปานกลางรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่หรือผ่านแอปพลิเคชัน เสี่ยงสูงจำกัดบริเวณผ่านกำไลข้อมือ/ข้อเท้า ติดตามตัว หรือถ้าหากมีความเสี่ยงสูงมากจะขังทันทีไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว  ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยเองได้นำระบบนี้มาทดลองใช้แล้วใน 13 ศาล ได้แก่ ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ ศาลจังหวัดจันทบุรี ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช ศาลจังหวัดขอนแก่น ศาลอาญาธนบุรี ศาลจังหวัดสุรินทร์ ศาลจังหวัดชัยภูมิ ศาลจังหวัดเชียงราย ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ศาลจังหวัดสงขลา และศาลจังหวัดฮอด (เชียงใหม่)

ผศ.ดร. ปริญญายังได้กล่าวเสริมว่า “เพื่อให้เกิดการใช้แบบประเมินความเสี่ยงดังกล่าวในทุกศาลทั่วประเทศ เครือข่ายฯ ได้จัดทำแคมเปญ ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจน ผ่านช่องทาง Change.org/BailReform โดยได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนที่เห็นด้วยในการนำแบบประเมินความเสี่ยงไปใช้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม จำนวนกว่า 10,000 รายชื่อ แต่การผลักดันครั้งนี้ยังต้องการผู้สนับสนุนอีกมาก ทางเครือข่ายฯ ตั้งเป้าจะไปให้ถึง 66,000 รายชื่อเท่ากับจำนวนผู้ต้องขังระหว่างดำเนินคดีต่อปีของประเทศไทย โดยจะนำเอาผลสำเร็จที่ได้รับการสนับสนุนในครั้งนี้ไปยื่นต่อคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม “บรรจุอยู่ในแผนปฎิรูปแห่งชาติด้านกระบวนการยุติธรรม ซึ่งทางเครือข่ายฯ หวังว่าวลี “คุกมีไว้ขังคนจน” จะไม่มีอีกต่อไปในบ้านเรา”

ทั้งนี้เพื่อเป็นการให้ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับระบบการการประกันตัวแบบเก่าสู่การใช้แบบประเมินความเสี่ยงในอนาคต เครือข่ายฯ จึงได้เสวนาวิชาการ ปฏิรูปการประกันตัวเพื่อความเสมอภาคในสังคม: ร่วมกันแสวงหามาตรการทดแทนการขังระหว่างพิจารณา” โดยการแบ่งปันประสบการณ์จากกรณีระบบประกันตัวแบบเก่า ระหว่าง นักวิชาการด้านกฎหมายและผู้อาวุโสของศาลที่จะมาหาวิธีการที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ร่วมด้วย ผศ.ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปการประกันตัวเพื่อคนจน .ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายเฮนนิ่ง กลาซเซอร์ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านนโยบายสาธารณะและธรรมาภิบาล เยอรมัน-อุษาคเนย์ (CPG)  นายบุญรอด ตันประเสริฐ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ภาค 1 และ นายมุขเมธิน กลั่นนุรักษ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักประธานศาลฎีกา และดำเนินรายการโดย รศ.ดร. ปกป้อง ศรีสนิท  คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เครือข่ายปฏิรูปการประกันตัวเพื่อคนจนยังต้องการเสียงสนับสนุนจากประชาชนผ่านช่องทาง www.Change.org/BailReform  ให้ถึง 66,000 เสียง เท่ากับจำนวนผู้ต้องขังระหว่างดำเนินคดีต่อปีของประเทศไทย และหลังจากนี้ เครือข่ายฯ จะนำเอารายชื่อที่ได้รับการสนับสนุนจากแคมเปญดังกล่าว ไปยื่นกับตัวแทนคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรมเป็นลำดับถัดไป

The post เครือข่ายปฏิรูปการประกันตัวเพื่อคนจน ยื่นเสียงสนับสนุนจากประชาชนผ่านแคมเปญ “ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจน” appeared first on iUrban.

Credit: เครือข่ายปฏิรูปการประกันตัวเพื่อคนจน ยื่นเสียงสนับสนุนจากประชาชนผ่านแคมเปญ “ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจน” Web: iURBAN Fanpage: facebook.com/iURBAN.in.th

Comments

Popular posts from this blog

19 ป้ายโฆษณา (Billboard) สุดครีเอทที่ออกแบบอย่างสร้างสรรค์จนต้องจำแบรนด์ได้ at iURBAN

สามารถตรวจสอบเครื่องสำอางค์เกาหลีว่าเป็นของแท้หรือไม่ผ่านทาง HiddenTag at iURBAN

DIY : อมยิ้มน้ำตาลคริสตัลแบบโฮมเมด at iURBAN