5 จุดสังเกตเลือกซื้อเครื่องฟอกอากาศอย่างมือโปร 2019 สู้ #ฝุ่นPM25 (ไม่มีโฆษณา)
เมื่อประเทศไทยถูกต้อนรับปี 2019 ด้วยฝุ่น PM2.5 มหาสนุก ที่ไม่มีวี่แววว่าจะหายไปง่ายๆ ทำการดูแลตัวเองของทุกคนเริ่มถึงคำว่าจำเป็นแล้ว เครื่องฟอกอากาศจึงเป็นอุปกรณ์หนึ่งที่สำคัญสำหรับบ้าน แต่ในท้องตลาดนั้นก็มีเครื่องฟอกอากาศหลายยี่ห้อ และหลายรุ่น iURBAN เราให้ความสำคัญในการเลือกเครื่องฟอกอากาศมาก จนมั่นใจในระดับเชี่ยวชาญพอจะแนะนำทุกท่านได้ว่า ควรจะดูอะไรบ้าง ก่อนที่จะกำเงินไปซื้อของ
จากภาพนี้จะเห็นได้ว่าฝุ่น PM2.5 นั้นเล็กแค่ไหนเมื่อเทียบกับขนาดเส้นผม แทบจะไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ดังนั้นมันจึงสร้างผลกระทบกับสุขภาพได้อย่างที่เราต้องป้องกันตัวกันจริงๆ ที่พักอาศัยเป็นสถานที่ที่ควรจะไม่จำเป็นต้องใส่หน้ากาก เมื่อปิดบ้านมิดชิดแล้วเปิดเครื่องฟอกอากาศ อย่างน้อยก็ให้เราใช้ชีวิตได้อย่างปกติในพื้นที่เล็กๆ
และนี่คือปัจจัยที่คุณต้องสังเกตุเมื่อเลือกซื้อเครื่องฟอกอากาศ
1. ความละเอียดของฟิลเตอร์ HEPA/EPA
หัวใจสำคัญที่สุดของเครื่องฟอกอากาศทุกเครื่อง คือ ไส้กรองอากาศ โดยระบบการทำงานของเครื่องฟอกอากาศเกือบทั้งหมด ฟอกอากาศด้วยการนำอากาศเสียวิ่งผ่านไส้กรองเพื่อให้ได้อากาศดีออกมา โดยมาตรฐานโลกของไส้กรองอากาศนั้นมีชื่อเรียกกันว่า HEPA (High Efficiency Particulate Air) ชื่อมาตรฐานของฟิลเตอร์เครื่องฟอกอากาศที่ใช้ในตลาดตอนนี้ 90% โดยลักษณะจะเป็นแผงกระดาษที่มีเนื้อเป็นเส้นใยไฟเบอร์ทอความหนาระดับหนึ่งวางสลับฟันปลากันไปมา เพื่ออากาศสามารถผ่านได้โดยที่ดักฝุ่นเอาไว้ให้ติดกับเนื้อฟิลเตอร์
ความละเอียดของฟิลเตอร์ HEPA นั้นละเอียดถึงระดับสามารถดักจับแบคทีเรียและเกษรดอกไม้อันเป็นสาเหตุของอาการภูมิแพ้ได้โดยไม่ต้องใช้เทคโนโลยีอื่นช่วยเลย ซึ่งมาตรฐานของฟิลเตอร์นั้นมีตั้งแต่ EPA, HEPA และ ULPA เรียงตามลำดับความละเอียดในการดักจับฝุ่นละออง ซึ่งได้ถึง 99.95%-99.995% แล้ว แต่สำหรับฟิลเตอร์ EPA นั้นเริ่มต้นที่ 85%-99.5% ดังนั้นก็เรียกได้ว่า ให้เลือกฟิลเตอร์ที่เป็น HEPA ไว้ก่อนจะดีกว่า
อันที่จริงในตารางจะเห็นว่า มีระดับที่สูงกว่าคือ ULPA ด้วย แต่เมื่อถึงระดับ HEPA ก็ดักจับได้ 99.95% แล้ว ดังนั้นเครื่องฟอกอากาศส่วนใหญ่จึงไม่ค่อยนำเทคโนโลยี ULPA มาใช้ให้สิ้นเปลือง สำหรับผู้บริโภคอย่างเรามองหาแค่ HEPA ก็ดีเยี่ยมแล้ว แต่ในตลาดวันนี้ยังคงมีเครื่องฟอกอากาศที่ใช้ไส้กรองอากาศระดับ EPA (รุ่นต่ำกว่า) จำหน่ายอยู่ด้วยเช่นกัน ในราคาที่พอกันกับ HEPA
จากรูปด้านบน จะพบว่า การออกแบบฟิลเตอร์ HEPA นั้นมีหลากหลายรูปแบบ ไม่มีแบบไหนดีกว่ากัน แต่มีบางยี่ห้อที่นำอากาศผ่าน HEPA ถึง 2 ชั้น ก็มี ซึ่งก็อาจเพิ่ม % ในการใช้งานจริงมากขึ้นได้ แม้ว่า HEPA สามารถดักจับแบคทีเรียได้ แต่ไม่ว่าแบบไหนก็ไม่สามารถดักจับไวรัสได้ แม้แต่ฟิลเตอร์ ULPA เนื่องจากมีขนาดเล็กกว่าไส้กรองลงไปอีก (ซึ่งการฆ่าเชื้อไวรัสบางยี่ห้ออาจเคลมไว้ จะอธิบายในภายหลัง)
2. ปริมาณอากาศ และ ขนาดของห้อง
สิ่งสำคัญไม่แพ้ไส้กรองอากาศอีกอย่างก็คือ ความสามารถในการฟอกอากาศในด้านปริมาณ แน่นอนว่าเครื่องฟอกอากาศที่สามารถฟอกอากาศได้จำนวนมากนั้นย่อมมีราคาสูงกว่าเครื่องฟอกอากาศสำหรับห้องนอน หรือพื้นที่ขนาดเล็ก ดังนั้น ก่อนการเลือกรุ่นเครื่องฟอกอากาศ เราจำเป็นจำต้องทราบว่าเราจะนำไปใช้กับห้องไหนเสียก่อน ถ้าหากห้องมีขนาดที่แตกต่างกันมาก เช่น ห้องนอน กับ ห้องนั่งเล่น เราอาจใช้ร่วมกันไม่ได้
คำนวนขนาดห้อง ถ้าหากเป็นคอนโด อาจวางเครื่องฟอกอากาศไว้ที่ห้องที่มีพื้นที่มากที่สุดเพียงเครื่องเดียว แล้วคำนวนขนาดของพื้นที่ทั้งหมดรวมกันได้ วิธีการคำนวนห้องแบบง่ายที่สุด คือ การนำ กว้าง (เมตร) x ยาว (เมตร) โดยยังไม่ต้องรวมส่วนสูงของห้องให้คำนวนยาก (ยกเว้นเพดานสูง 2 ชั้นแบบ Double Volumn) ก็จะได้พื้นที่ห้องเป็นตารางเมตร เช่น ห้องกว้าง 4 เมตร ยาว 6 เมตร = พื้นที่ 24 ตร.ม. เป็นต้น
กับดักการคำนวนพื้นที่: เกือบทุกแบรนด์จะบอกคุณให้ง่ายๆ ว่า เครื่องฟอกอากาศนี้ จะสามารถใช้ได้กับห้องขนาดเท่าไหร่ เพื่อให้ง่ายต่อการตัดสินใจ แต่บางแบรนด์จะไม่ได้บอกคุณว่า “ใน 1 ชั่วโมงจะฟอกอากาศจนครบหมดได้กี่รอบ” ถ้าหากคุณอ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ยินดีด้วย คุณจะเป็นผู้เชี่ยวชาญในการเลือกเครื่องฟอกอากาศได้โดยไม่ต้องโดนเซลหลอกอีกต่อไป เพราะบางเครื่อง 1 ชั่วโมง ฟอกได้ 2 รอบ บางเครื่องได้ 4-6 รอบ โห มันต่างกันมากใช่ไหม?
สิ่งนี้สามารถดูได้จากค่า CADR หรือย่อมาจาก Clean Air Delivery Rate เป็นค่ามาตรฐานที่ใช้ทดสอบเครื่องฟอกอากาศ หมายถึง “อากาศที่ฟอกแล้ว” ที่ออกจากเครื่อง ไม่ใช่แค่อากาศที่วิ่งผ่านโดยยังไม่ฟอก โดยจะบอกเป็น ลูกบาศเมตร (m³) ต่อชั่วโมง เช่น 200m³/h หรือ 500m³/h ซึ่งค่าตรงนี้เป็นค่าที่คุณควรให้ความสนใจอย่างแท้จริง เพราะจะทำให้คุณสามารถเปรียบเทียบเงินที่ต้องจ่ายกับยี่ห้อคู่แข่งได้อย่างแท้จริง
แม้จะมีฟังก์ชั่นอื่นๆ แต่เราแนะนำให้โฟกัสที่ค่า CADR นี้ก่อน ถ้าหากเทียบแล้วแพงแต่คุณรับได้ ก็ไม่ได้เป็นปัญหาอะไร คำถามที่คุณจะถามเซลสินค้าได้คือ “เครื่องนี้หนึ่งชั่วโมงฟอกได้กี่รอบ” “C-A-D-R ได้เท่าไหร่” ก็จะเริ่มเป็นคำถามที่เซลรู้แล้วว่าขายของให้คุณมั่วๆ ไม่ได้แล้ว
คำแนะนำ: ถ้าหากการเพิ่มขนาด CADR (หรือเพิ่มไซส์เครื่องฟอกอากาศ) แล้วไม่ได้เพิ่มเงินมากเท่าไหร่นัก การซื้อเครื่องใหญ่ไว้ก่อนก็เป็นทางเลือกที่ดี เพราะจะทำให้เครื่องฟอกไม่ต้องทำงาน max speed ตลอดเวลา (เสียงมักจะดังรบกวน)
ถ้าหากบ้านของคุณมีลักษณะเป็นห้องหลายห้องต่อกัน มีมุมผนังแบ่งเป็นสัดส่วน การเลือกซื้อเครื่องฟอกอากาศตัวเล็ก วางกระจายตามแต่ละโซน อาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการซื้อเครื่องฟอกอากาศตัวใหญ่ตัวเดียว
3. การเปลี่ยนฟิลเตอร์เครื่องฟอกอากาศในอนาคต
แน่นอนว่าเครื่องฟอกอากาศตั้งแต่การใช้งานวันแรก ประสิทธิภาพจะลดเรื่องไปเรื่อยๆ จนกระทั่งฟิลเตอร์นั้นหมดอายุการใช้งาน ซึ่งการหมดอายุการใช้งานนั้นไม่ได้หมายถึงมันเละเป็นผล สภาพมันยังจะคงปกติเราไม่สามารถสังเกตได้จากภายนอก แต่มันอาจเก็บฝุ่นจนเต็ม ไม่สามารถดักจับเพิ่มได้แล้ว การเปิดเครื่องฟอกอากาศจึงเหมือนแค่เปิดพัดลมให้เปลืองไฟไปเท่านั้น ดังนั้น คุณจำเป็นจะต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนฟิลเตอร์เป็นอีกหนึ่งปัจจัย โดยคำนึงถึงเรื่องต่อไปนี้
- รู้ได้ไงว่าฟิลเตอร์หมด เครื่องฟอกอากาศหลายรุ่นจะมีตัวจับเวลาการเปิดปิดเครื่อง เพื่อแจ้งให้คุณทราบถึงเวลาที่ควรเปลี่ยนฟิลเตอร์ มันช่วยให้ชีวิตสะดวกกว่ามาก แต่เครื่องฟอกอากาศรุ่นเล็กๆ อาจไม่มีระบบแจ้งเตือนตรงนี้
- ฟิลเตอร์ราคาเท่าไหร่ เป็นอีกหนึ่งที่คุณต้องนำมาคำนวนค่าใช้จ่ายต่อปี สำหรับเครื่องฟอกอากาศ ซึ่งไม่ใช่อุปกรณ์ที่จ่ายครั้งเดียวแล้วจบ แต่ต้องมีการดูแลเปลี่ยนฟิลเตอร์อยู่เป็นประจำ ยี่ห้อพรีเมียมก็ไม่ได้ฟิลเตอร์แพงเสมอไป ลองสอบถามจากเซลดูได้ ว่าเปลี่ยนทั้งหมดเท่าไหร่ (บางรุ่นมีเปลี่ยนหลายชิ้น)
- ซื้อฟิลเตอร์ได้ที่ไหน ความสะดวกก็จัดว่าเป็นสิ่งที่ทำให้ลดต้นทุนการเดินทางไปซื้อได้ สามารถสั่งออนไลน์ได้หรือไม่ มีคนขายบน Lazada บ้างไหม (เผื่อคนขายแข่งราคากัน ผู้บริโภคก็ยิ้มเลย) ซื้อกับผู้จำหน่ายเครื่องได้ไหม หรือต้องสั่งจากศูนย์อย่างเดียว
- มีฟิลเตอร์แบบไหนให้เลือกบ้าง มีหลายรุ่นมีการเพิ่มความสามารถฟิลเตอร์ HEPA เข้าไป ที่เห็นได้บ่อยคือ การเพิ่มคาร์บอน (หรือถ่าน) เข้าไปเพื่อช่วยในการดูดซับกลิ่น เหมือนกันเอาถ่านไปวางในตู้เย็น (ถ่านดำๆ หุงข้าวนะ ไม่ใช่ถ่ายไฟฉาย) และบางรุ่นก็มีการเพิ่มการฆ่าเชื้อโรค เพิ่มการกำจัดกลิ่นพิเศษเข้าไปอีก ลองสอบถามผู้จัดจำหน่าย
4. ฟังก์ชั่นเสริมในการฆ่าเชื้อโรค
ในการแข่งขันแบบเสรีทำให้หลายยี่ห้อก็พยายามพัฒนาฟังก์ชั่นที่เป็นลิขสิทธิ์หรือฟังก์ชั่นเสริมขึ้นมา มีการนำ Ion (ไอ-ออน) มาช่วยในการกำจัดเชื้อโรค ผสมสูตรเป็นพลาสม่า ซึ่งบางฟังก์ชั่นอาจไม่เหมาะสมต่อการเปิดนาน เช่น Ozone ที่ฆ่าเชื้อโรคและเซลขนาดเล็กมากได้ แต่จะทำให้เซลร่างกายของเรามีผลไปด้วยเช่นกัน อาจเปิดใช้บางเวลาที่จำเป็น หรือหลีกเลี่ยง
แต่ก็มีการใช้เทคโนโลยีต่างๆ เพื่อแข่งขันกันอย่างสร้างสรรค์ เช่น การปล่อยประจุไฟฟ้าเพื่อฆ่าเชื้อโรค การใช้แสงอัลตราไวโอเลทเพื่อฆ่าเชื้อโรค การใช้ความชื้นผสมไฟฟ้าหรือไทเทเนียม และอีกมากมาย ซึ่งจะทำให้แต่ละยี่ห้อนั้นมีเทคโนโลยีท่ีแตกต่างกันแบบที่คู่แข่งไม่สามารถลอกเลียนได้
5. ฟังก์ชั่นเสริมการทำงานอัตโนมัติ
เป็นอีกหนึ่งฟังก์ชั่นเสริมที่ช่วยให้ชีวิตสะดวกในยุคนี้ หลายเครื่องสามารถเชื่อมต่อ WIFI และสามารถควบคุมผ่านทางแอพมือถือได้ บางเครื่องมีการวัดคุณภาพอากาศว่าตอนนี้มีฝุ่นเยอะแค่ไหน ทำให้สามารถเร่งเครื่องทำงานเองได้ เมื่อไม่มีฝุ่นก็ไม่จำเป็นต้องเปิดแรงให้เปลืองไฟ ซึ่งเป็นฟังก์ชั่นที่ได้ประโยชน์ไม่น้อย
นอกจากนี้ยังมีฟังก์ชั่นเสริมอีกเยอะแยะ สำหรับฟังก์ชั่นเสริมต่างๆ ถ้าทำให้เครื่องราคาสูงขึ้นมาก หากคุณมองหาเครื่องฟอกอากาศที่คุ้มราคาแล้ว สามารถเลือกโดยเน้นที่ 2 ปัจจัยอย่าง HEPA และปริมาณการผลิตอากาศ (CADR) ก็สามารถได้เครื่องฟอกอากาศที่เพียงต่อต่อการใช้งานทุกวัน รวมถึงการจัดการกับฝุ่น PM2.5 แล้ว
ขอให้ทุกท่านผ่านพ้นวิกฤติพายุฝุ่น PM2.5 ไปได้อย่างปลอดภัย
และได้เครื่องฟอกอากาศที่สามารถกรองให้คุณใช้ชีวิตในบ้านได้อย่างมีความสุขในอนาคต
ถ้าหากบทความนี้เป็นประโยชน์
รบกวนกดแชร์กันคนละ 1 ทีก็ขอบพระคุณ ♥️
Via: 5 จุดสังเกตเลือกซื้อเครื่องฟอกอากาศอย่างมือโปร 2019 สู้ #ฝุ่นPM25 (ไม่มีโฆษณา)
Comments
Post a Comment