มูลนิธิเอสซีจีจัด “เทศกาลนิทานในสวน” รอบพิเศษเป็นของขวัญปีใหม่ ชวนน้อง ๆ หนู ๆ จากมูลนิธิและสถานสงเคราะห์ต่าง ๆ ร่วมเปิดโลกแห่งจินตนาการ เติมเต็มประสบการณ์แห่งการเรียนรู้ at iURBAN
‘มูลนิธิเอสซีจี’ มุ่งสร้างวัฒนธรรมการเลี้ยงลูกด้วยหนังสือในสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง จัดงาน ‘เทศกาลนิทานในสวน ปีที่ 13’ เปิดพื้นที่ให้คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองได้พาบุตรหลานมานั่งฟังนิทาน อ่านหนังสือในสวน พร้อมฟังคำแนะนำเรื่องการเล่านิทาน อ่านหนังสือกับลูกน้อย และร่วมกิจกรรมแสนสนุกมากมายภายใต้บรรยากาศอันร่มรื่น ทั้งละครนิทาน มุมหนังสือภาพ มุมระบายสี สานสัมพันธ์ความรักความอบอุ่นในครอบครัว และยังได้จัดรอบพิเศษเพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับน้องๆ จากมูลนิธิและสถานสงเคราะห์ต่างๆ มาเปิดโลกแห่งการเรียนรู้ และจินตนาการ สัมผัสประสบการณ์สุดอบอุ่น และเติมเต็มความสุข
สุวิมล จิวาลักษณ์ กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี กล่าวว่า มูลนิธิเอสซีจี จัดงานเทศกาลนิทานในสวนต่อเนื่องทุกปีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 โดยได้รับการตอบรับที่ดีขึ้นทุก ๆ ปี รู้สึกภูมิใจที่มูลนิธิฯ ได้เป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมสถาบันครอบครัว ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของประเทศ ในปี พ.ศ. 2560 นี้ โครงการเทศกาลนิทานในสวน ได้ย่างเข้าสู่ปีที่ 13 มูลนิธิฯ จึงได้จัด “เทศกาลนิทานในสวน รอบพิเศษ” เพื่อมอบเป็นของขวัญพิเศษส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ให้แก่เด็ก ๆ จากมูลนิธิและสถานสงเคราะห์เด็กต่าง ๆ เช่น ศูนย์สร้างโอกาสเด็กสะพานพระราม 8 บ้านเด็กอ่อนพญาไท มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมฯ ที่อาจจะเข้าถึงหนังสือได้ยากกว่าเด็กทั่วไป ได้มาสัมผัสบรรยากาศอบอุ่นของงานเทศกาลนิทานในสวนอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นละครนิทาน มุมหนังสือภาพ มุมระบายสี มุมกิจกรรมสนุกสนาน เช่น เพ้นท์หน้า และกิจกรรมอีกมากมาย ที่รอให้เด็ก ๆ ได้มาสัมผัสประสบการณ์อันล้ำค่า ที่จะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการของพวกเขา
“เราเชื่อว่าหนังสือดี ๆ เพียงเล่มเดียวจะสามารถช่วยหล่อหลอม และสร้างเด็กที่จะเป็นอนาคตของชาติได้ มูลนิธิฯ จึงอยากให้พ่อแม่และสังคมได้เห็นถึงความสำคัญของหนังสือภาพว่าเป็นเครื่องมือที่ดี ในการพัฒนาและเตรียมความพร้อมให้เด็ก ๆ เพื่อเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ การเล่านิทานนั้นไม่ได้ให้แค่ความสนุกสนาน แต่ยังเป็นการพัฒนาเด็กบนพื้นฐานของความรักความอบอุ่นของพ่อแม่ อีกทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับลูกน้อยในวัยแรกเกิดถึงอายุ 6 ปี นับเป็น ช่วงที่ดีที่สุด เพราะเซลล์สมองของเด็ก ๆ กำลังเจริญเติบโต ดังนั้น เพียงคุณพ่อคุณแม่เล่านิทาน อ่านหนังสือกับลูกเป็นประจำแค่วันละ 10-15 นาที ก็จะสังเกตเห็นว่า เด็ก ๆ นั้นมีพัฒนาการที่ดีขึ้นรอบด้าน ทั้งทางร่างกาย สติปัญญา และอารมณ์” กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี กล่าว
นอกจากนี้มูลนิธิเอสซีจียังได้รับเกียรติจาก ‘ป้ากุล’ รองศาสตราจารย์กุลวรา ชูพงศ์ไพโรจน์ นักเล่านิทาน นักแต่ง และนักแปลนิทานชั้นแนวหน้าของเมืองไทย ผู้คร่ำหวอดในแวดวงหนังสือภาพ หนังสือนิทานสำหรับเด็กกว่า 30 ปี มาร่วมมอบความสุข สนุกสนานด้วยการเล่านิทานให้น้อง ๆ ฟังด้วย
‘ป้ากุล’ รองศาสตราจารย์กุลวรา ชูพงศ์ไพโรจน์ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการเล่านิทานว่า ตนเองเป็นคนรักการอ่าน และการได้อ่านนิทานก็ทำให้มีความสุข เพราะนิทานส่วนใหญ่จะสอนให้เป็นคนดีมีศีลธรรม นอกจากนี้การอ่านหรือฟังนิทานยังช่วยเรื่องภาษา ทำให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้คำศัพท์ใหม่ ๆ หากเล่านิทานให้ลูกฟังสม่ำเสมอ ก็จะเป็นการปรับภาษาให้ลูก และช่วยพัฒนาสมอง อีกทั้งยังทำให้เกิดความรักในครอบครัว โดยมีหนังสือนิทานเป็นสื่อกลาง การปลูกฝังเด็กให้รักการอ่านหรือการเล่านิทานให้เด็กฟังนั้น จะช่วยให้เด็กมีสมาธิดีขึ้น เพราะสมาธิสามารถเริ่มได้จากการฟัง การอ่าน และการมอง นอกจากนี้การอ่านยังเป็นการส่งเสริมจินตนาการให้กับเด็กอีกด้วย
“เทศกาลนิทานในสวนที่มูลนิธิเอสซีจีได้จัดขึ้นนั้น เป็นกิจกรรมที่ดี สร้างสรรค์ และเล็งเห็นความสำคัญของการอ่านหนังสือนิทานที่เกิดขึ้นกับเด็ก ๆ เชื่อว่าแม้สื่อยุคดิจิทัลจะเข้ามาทำให้โลกเปลี่ยนแปลงอย่างไร “หนังสือนิทาน” ก็ยังมีความสำคัญในการช่วยอบรม บ่มเพาะให้เด็ก ๆ เป็นคนดี และช่วยพัฒนาทักษะรอบด้านทั้งการฟัง พูด อ่าน และเขียน ดังนั้นพ่อแม่ควรปลูกฝังให้ลูกรักการอ่าน เพื่อให้พวกเขาเติบโตเป็นคนดีของสังคมในอนาคต” ป้ากุล กล่าว
ด้าน นายเชาวลิต สาดสมัย ผู้ปกครองศูนย์สร้างโอกาสเด็กพระราม 8 กล่าวว่า ตนเองทำงานดูแลเด็ก ๆ มา 10 ปีแล้ว โดยศูนย์ฯ แห่งนี้ดูแลเด็กตั้งแต่อายุ 1 ปี จนถึงอายุ 15 ปี ตลอดระยะเวลาที่ทำงานมา สิ่งที่อยากได้ คือรอยยิ้ม และเสียงหัวเราะของเด็ก ๆ รวมทั้งอยากช่วยให้เด็ก ๆ ในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ศูนย์สร้างโอกาสแห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ ตลอดจนเป็นที่ทำการบ้าน ทำกิจกรรมของ เด็ก ๆ ในชุมชน
“การที่มูลนิธิเอสซีจีจัดเทศกาลนิทานในสวนครั้งนี้ ผมมองว่าเป็นแนวทางที่ดีมาก เพราะเป็นการเข้ามาเติมเต็มความรู้ และเป็นการเปิดโลกกว้างให้แก่เด็กๆ เพราะเด็กในวัยนี้กำลังมีพัฒนาการ กำลังเรียนรู้และมองหาสิ่งใหม่ๆ ซึ่งมูลนิธิได้ให้โอกาสเด็กที่ขาดความพร้อมในบางประการ และเข้าถึงการอ่านหนังสือได้ยาก ได้มามีส่วนร่วมกับกิจกรรมที่แสนพิเศษนี้ ทำให้พวกเขาได้เปิดโลกจินตนาการ สัมผัสประสบการณ์แปลกใหม่ และผมเชื่อว่า ‘หนังสือภาพ’ เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ใช้ง่าย ประหยัด และทรงพลังที่จะช่วยปลูกฝังให้เด็กไทยรักการอ่าน ซึ่งจะเป็นภูมิคุ้มกันอย่างดีไม่ให้เด็กติดเกม ติดเพื่อน หรือลุ่มหลงไปกับสิ่งยั่วยุต่าง ๆ ผมจึงอยากให้มีหน่วยงานอย่างมูลนิธิเอสซีจีที่เห็นความสำคัญของพัฒนาการเด็ก เห็นความสำคัญของการพัฒนาคน เข้ามาทำกิจกรรมแบบนี้เพิ่มมากขึ้น เพื่อจะช่วยหล่อหลอมให้พวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในวันข้างหน้า” เชาวลิต กล่าว
นายศุภวัชกร เกษรบัว SCG CBM Digital กล่าวถึงความรู้สึกที่ได้มาเป็นจิตอาสาว่า โดยปกติแล้วร่วมทำกิจกรรมจิตอาสาค่อนข้างบ่อย เมื่อได้ทราบข่าวว่างานเทศกาลนิทานในสวน ต้องการจิตอาสาไปร่วมทำกิจกรรมกับเด็ก ๆ จึงรีบสมัครเข้าร่วมทันที เพราะอยากจะเป็นส่วนหนึ่งในการมอบโอกาสที่ดีให้กับน้องๆ
“การเล่านิทาน ซึ่งเป็นการสื่อสารด้วยอารมณ์และความรู้สึกดี ๆ เป็นสิ่งสำคัญสำหรับเด็กวัยนี้ เพราะนอกจากนิทานจะสอดแทรกความรู้ต่าง ๆ ที่จะช่วยเสริมสร้างจินตนาการและความรู้ใหม่ ๆ จากการฟังแล้ว ยังเป็นการส่งต่อความรู้สึกดี ๆ และความอบอุ่นให้กับพวกเขาอีกด้วย อยากให้สิ่งดี ๆ ที่เราได้ทำให้กับน้อง ๆ ในปีนี้ เป็นของขวัญปีใหม่ให้พวกเขามีความสุข” ศุภวัชกร กล่าว
ทั้งนี้ เทศกาลนิทานในสวน ปีที่ 13 โดยมูลนิธิเอสซีจี จะเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ เข้าไปในโลกจินตนาการกับหนังสือภาพและกิจกรรมดี ๆ อีกครั้ง ในวันเสาร์ที่ 6 และเสาร์ที่ 13 มกราคม 2561 ณ สวนหลวง ร.9 (บริเวณลานจามจุรี) สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่มูลนิธิเอสซีจี โทร 02-586-2547 เว็บไซต์ www.scgfoundation.org หรือ Facebook :http://www.facebook.com/SCGFoundation.ECD
The post มูลนิธิเอสซีจีจัด “เทศกาลนิทานในสวน” รอบพิเศษเป็นของขวัญปีใหม่ ชวนน้อง ๆ หนู ๆ จากมูลนิธิและสถานสงเคราะห์ต่าง ๆ ร่วมเปิดโลกแห่งจินตนาการ เติมเต็มประสบการณ์แห่งการเรียนรู้ appeared first on iUrban.
Credit: มูลนิธิเอสซีจีจัด “เทศกาลนิทานในสวน” รอบพิเศษเป็นของขวัญปีใหม่ ชวนน้อง ๆ หนู ๆ จากมูลนิธิและสถานสงเคราะห์ต่าง ๆ ร่วมเปิดโลกแห่งจินตนาการ เติมเต็มประสบการณ์แห่งการเรียนรู้ Web: iURBAN Fanpage: facebook.com/iURBAN.in.th
Comments
Post a Comment