ผลวิจัยจากออกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์ และเอสเอพี ตอกย้ำถึงอิทธิผลของทรัพยากรมนุษย์ที่มีต่อผลงานขององค์กร at iURBAN

ผลวิจัยจากออกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์ และเอสเอพี ตอกย้ำถึงอิทธิผลของทรัพยากรมนุษย์ที่มีต่อผลงานขององค์กร

saplogo_0

ผลวิจัยจากออกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์ และเอสเอพี
ตอกย้ำถึงอิทธิผลของทรัพยากรมนุษย์ที่มีต่อผลงานขององค์กร
เอสเอพีและออกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์ เผยข้อมูลจากการสำรวจ Workforce2020
เพื่อเจาะลึกถึงเคล็ดลับเบื้องหลังความสำเร็จขององค์กรที่มีผลงานโดดเด่น

รายงานวิจัยอิสระ Workforce2020 ซึ่งจัดทำขึ้นจากข้อมูลทั่วโลกโดย ออกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์ และเอสเอพี เอสอี (NYSE: SAP) เผยว่าองค์กรที่มุ่งพัฒนาศักยภาพของบุคลากรอย่างจริงจังมักจะมีผลประกอบการที่แข็งแกร่ง โดยรายงานวิจัยดังกล่าวครอบคลุมองค์กรธุรกิจทั่วโลก ทั้งในกลุ่มที่มีผลงานดีและไม่ดี เพื่อพิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างการให้ความสำคัญกับพนักงาน และความสำเร็จทางการเงินของตัวองค์กรเองผลการวิจัยเผยว่าองค์กรที่ทำผลงานได้ดี มักมีแนวโน้มด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจ ดังนี้

องค์กรที่ประสบความสำเร็จ มีความเข้าใจในแนวโน้มเชิงคุณลักษณะของบุคลากร และพร้อมวางแผนรองรับ
ผู้บริหารขององค์กรที่มีอัตราการเติบโตสูงมักมีวิสัยทัศน์กว้างไกล เล็งเห็นถึงอนาคต และมีความพร้อมที่จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงด้านบุคลากรในภาพรวม โดยพวกเขาจะใส่ใจกับแนวโน้มเชิงคุณลักษณะของบุคลากรในองค์กร ธุรกิจในกลุ่มนี้มักมีมุมมองตรงกันว่า กลยุทธ์การทำงานของตนมีรากฐานมาจากความเปลี่ยนแปลงหลักสองประการ ได้แก่ปริมาณคนรุ่นใหม่ที่เพิ่มขึ้น และอายุที่เพิ่มมากขึ้นของบุคลากรในภาพรวม
“ทุกองค์กรมีกลยุทธ์ทางธุรกิจของตนเอง” ไมค์ เอ็ตลิง ประธานฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ของซักเซสแฟกเตอร์ส บริษัทในเครือเอสเอพี กล่าว “แต่การจะเปลี่ยนกลยุทธ์ให้กลายเป็นผลสำเร็จนั้น จำเป็นจะต้องอาศัยบุคลากรที่มีความมุ่งมั่น ตื่นตัว และทำงานได้มีประสิทธิผลดี ด้วยเหตุนี้เอง การบริหารงานด้านทรัพยากรมนุษย์จึงมีอิทธิพลอย่างมหาศาลต่อความสำเร็จขององค์กร ผู้บริหารที่รับผิดชอบงานในด้านนี้มีโอกาสที่จะค้นหา สนับสนุน และพัฒนาบุคลากรผู้มีความสามารถให้นำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จทางการเงิน ดังที่รายงานวิจัย Workforce2020 ได้สรุปไว้”

องค์กรที่ประสบความสำเร็จจะจ้างงานและรักษาบุคลากรที่มีความสามารถเอาไว้ได้
องค์กรที่มีอัตราการเติบโตสูงจะสามารถดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถได้ดีกว่า โดยราวร้อยละ 55 ขององค์กรกลุ่มนี้เผยว่าพวกเขาพอใจในคุณภาพของผู้สมัครงานในแทบทุกตำแหน่ง ขณะที่ในกลุ่มองค์กรที่มีผลกำไรต่ำกว่าค่ามาตรฐานของตลาดนั้น มีระดับความพอใจอยู่เพียงร้อยละ 46 นอกจากนี้ ปัญหาด้านคุณภาพบุคลากรขององค์กรที่มีผลงานไม่ดีจะส่งผลกับการทำงานในด้านอื่น ๆ ด้วย เนื่องจากกว่าครึ่งหนึ่งขององค์กรในกลุ่มนี้ระบุว่าปัญหาด้านการจ้างงานมีผลกับกลยุทธ์การบริหารธุรกิจในภาพรวมด้วย

องค์กรที่ประสบความสำเร็จจะให้รางวัลตอบแทนพนักงานโดยยึดผลงานเป็นเกณฑ์ แทนที่จะยึดอายุงานเป็นหลัก
ราวร้อยละ 60 ขององค์กรที่มีอัตราการเติบโตสูง ระบุว่าองค์กรมีนโยบายที่มุ่งเน้นผลงานเป็นปัจจัยสำคัญเหนือกว่าอายุงาน ขณะที่กลุ่มองค์กรที่มีผลงานต่ำกว่ามาตรฐานมีแนวคิดในทิศทางเดียวกันอยู่ไม่ถึงครึ่ง
“ตลอดช่วงห้าปีที่ผ่านมา องค์กรของเราได้เติบโตผ่านทางการควบรวมกิจการหลายครั้งด้วยกัน” เมแกน เมซันเนอร์ รองประธานอาวุโสฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ของ เอ็นทีที ดาต้า กล่าว “เราเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรจะต้องมีทรัพยากรมนุษย์เป็นพลังขับเคลื่อน และการบริหารบุคลากรอย่างมีประสิทธิภาพก็ถือเป็นข้อได้เปรียบที่สำคัญไม่น้อยในธุรกิจนี้ เอสเอพีและซักเซสแฟกเตอร์สได้ช่วยให้เราปรับเปลี่ยนการทำงานด้านนี้จนมีทิศทางเชิงกลยุทธ์ชัดเจนยิ่งขึ้น และลดความซับซ้อนลง ด้วยการนำแพลตฟอร์มหนึ่งเดียวมาใช้บริหารงานด้านทรัพยากรมนุษย์ทั่วโลก ทั้งหมดนี้ทำให้ธุรกิจของเราสามารถทำผลงานได้ดีและประสบความสำเร็จในภาพรวม”

องค์กรที่ประสบความสำเร็จมีผู้บริหารระดับสูงที่ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านทรัพยากรมนุษย์
องค์กรที่มีผลงานยอดเยี่ยมจะให้ความสำคัญกับปัญหาด้านทรัพยากรมนุษย์ในระดับที่สูงกว่าองค์กรกลุ่มอื่นมาก โดยปัญหาด้านดังกล่าวถือเป็นประเด็นสำคัญสำหรับผู้บริหารสูงสุดขององค์กรในกลุ่มนี้ ผู้บริหารในองค์กรที่มีอัตราการเติบโตสูงมีแนวโน้มสูงที่จะมองประเด็นด้านทรัพยากรมนุษย์เป็นแรงขับเคลื่อนเบื้องหลังกลยุทธ์ขององค์กรในระดับสูงสุด (ร้อยละ 64 ขณะที่องค์กรกลุ่มอื่นมีอัตราส่วนเพียงร้อยละ 49) ขณะที่ราวหนึ่งในสี่ขององค์กรที่มีผลงานต่ำกว่ามาตรฐานมองว่าประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญนักในการวางแผนธุรกิจ และจะยังคงยึดมุมมองนี้ต่อไปในช่วงสามปีข้างหน้า
“เป้าหมายของเราในการจัดทำงานวิจัยนี้คือการพิสูจน์ความเชื่อที่ว่า การให้ความสำคัญกับปัญหาด้านทรัพยากรมนุษย์จะทำให้องค์กรมีผลงานดียิ่งขึ้น” เอ็ดเวิร์ด โคน บรรณาธิการบริหารแผนก Thought Leadership ของออกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์ กล่าว “ผลวิจัยที่ออกมาแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างองค์กรที่เตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต และองค์กรที่ไม่ใส่ใจในด้านดังกล่าวได้อย่างชัดเจน เราหวังว่าข้อมูลผลวิจัยนี้จะช่วยเน้นย้ำให้ทุกฝ่ายตระหนักว่าทรัพยากรมนุษย์เป็นสิ่งสำคัญยิ่งสำหรับองค์กร โดยบริษัทที่ล้าหลังในด้านนี้จะต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้สามารถก้าวทันคู่แข่งและอยู่รอดได้ต่อไป”

องค์กรที่ประสบความสำเร็จมักใส่ใจในการฝึกสอนและดูแลพนักงาน
กว่าครึ่งหนึ่งขององค์กรที่มีผลงานดีระบุว่ามักมีการจัดกิจกรรมหรือหลักสูตรฝึกสอนต่าง ๆ ให้เป็นสวัสดิการแก่พนักงาน ซึ่งแตกต่างจากแนวคิดขององค์กรที่มีผลงานต่ำกว่ามาตรฐาน นอกจากนี้ องค์กรที่มีอัตราการเติบโตสูงยังมีระบบการดูแลฝึกสอนพนักงานอย่างเป็นทางการมากกว่าองค์กรที่มีผลงานต่ำกว่ามาตรฐานราวร้อยละ 16

องค์กรที่ประสบความสำเร็จมักตระหนักถึงคุณค่าของข้อมูล
ถึงแม้ว่าองค์กรในทุกกลุ่มจะเผชิญกับปัญหาจากการขาดข้อมูลด้วยกันทั้งสิ้น แต่องค์กรที่มีผลงานไม่ดีนักจะพบกับปัญหาดังกล่าวนี้มากกว่าองค์กรที่มีผลงานดี จนทำให้ส่งผลกระทบต่อประสิทธิผลการทำงานในอนาคต ข้อมูลที่องค์กรเหล่านี้ยังขาดแคลน มีทั้งในด้านสภาพตลาดแรงงาน สถานการณ์ในภาคอุตสาหกรรม ลูกค้า ข้อมูลทางการเงิน และการแปรสภาพข้อมูลที่ซับซ้อนให้แสดงผลเป็นแผนภาพที่เข้าใจง่าย
ทั้งนี้ เอสเอพีได้ทำการเผยแพร่บทความ แผนภาพ และเอกสารสรุปข้อมูล ทั้งในระดับภูมิภาคและประเทศ เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรมนุษย์เล็งเห็นถึงบทบาทของงานด้านดังกล่าวในการขับเคลื่อนองค์กรสู่ความสำเร็จและผลกำไรที่สูงยิ่งขึ้น ผู้สนใจสามารถค้นหาข้อมูลจากงานวิจัยและศึกษาตัวอย่างเรื่องราวความสำเร็จขององค์กรต่าง ๆ ได้ที่เว็บไซต์ของแคมเปญ “Growth”
ท่านสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ข่าวของเอสเอพี หรือพบกับความเคลื่อนไหวล่าสุดของบริษัทได้ทางทวิตเตอร์ที่ @sapnews

เกี่ยวกับงานวิจัย Workforce2020
Workforce2020 เป็นโครงการวิจัยระดับโลกที่มุ่งคัดสรรแนวทางการปฏิบัติงานที่ดีเยี่ยมและค้นหาทิศทางเพื่อการพัฒนาศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต ออกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์ ได้จัดทำการสำรวจในนามของเอสเอพี โดยครอบคลุมผู้บริหารรวม 2,700 ท่าน และพนักงานอีก 2,700 คน ทั้งยังทำการสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้บริหารอีก 28 ท่านในประเทศออสเตรเลีย บราซิล แคนาดา ชิลี โคลัมเบีย เช็ก เดนมาร์ก ฝรั่งเศส เยอรมนี อินเดีย ญี่ปุ่น เคนยา มาเลเซีย เม็กซิโก เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ รัสเซีย ซาอุดิอาระเบีย แอฟริกาใต้ สเปน สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ ตุรกี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ ผู้ตอบแบบสำรวจถูกคัดเลือกมาจากหลากหลายภาคอุตสาหกรรม ครอบคลุมองค์กรในทุกขนาดและบุคลากรทุกช่วงอายุ (ผู้ตอบแบบสำรวจในระดับพนักงานราวร้อยละ 49 ถือเป็นบุคลากรกลุ่มมิลเลนเนียล หรือเจนเนอเรชั่น วาย)

หมายเหตุ: งานวิจัยนี้ให้คำจำกัดความขององค์กรที่มีอัตราการเติบโตสูงว่าเป็นองค์กรที่มีอัตราการเติบโตของรายได้หรือกำไรสูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงสามปีหลัง โดยจากผู้บริหารทั้ง 2,700 ท่านที่ร่วมตอบแบบสำรวจ พบว่าร้อยละ 15 มาจากองค์กรที่มีรายได้เติบโตสูงกว่าค่าเฉลี่ย ขณะที่อีกร้อยละ 32 มีรายได้เติบโตที่อัตราต่ำกว่าค่าเฉลี่ย

The post ผลวิจัยจากออกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์ และเอสเอพี ตอกย้ำถึงอิทธิผลของทรัพยากรมนุษย์ที่มีต่อผลงานขององค์กร appeared first on iURBAN.

Credit: ผลวิจัยจากออกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์ และเอสเอพี ตอกย้ำถึงอิทธิผลของทรัพยากรมนุษย์ที่มีต่อผลงานขององค์กร Web: iURBAN Fanpage: facebook.com/iURBAN.in.th

Comments

Popular posts from this blog

19 ป้ายโฆษณา (Billboard) สุดครีเอทที่ออกแบบอย่างสร้างสรรค์จนต้องจำแบรนด์ได้ at iURBAN

สามารถตรวจสอบเครื่องสำอางค์เกาหลีว่าเป็นของแท้หรือไม่ผ่านทาง HiddenTag at iURBAN

DIY : อมยิ้มน้ำตาลคริสตัลแบบโฮมเมด at iURBAN