ศาสตร์และศิลป์แห่งความเป็นเมือง @ Singapore City Gallery at iURBAN
จากหมู่บ้านชาวประมงสู่นครรัฐที่ทันสมัย
สิงคโปร์เป็นประเทศขนาดเล็ก มีพื้นที่เพียง 710 ตารางเมตรเท่านั้น เล็กยิ่งกว่ากรุงเทพมหานครเสียอีก จากหมู่บ้านชาวประมงเล็ก ๆ ที่มีประชากรเพียงหลักร้อย เวลาล่วงผ่านไปเพียง 50 กว่าปีนับตั้งแต่ก่อตั้งประเทศ ประเทศเล็ก ๆ แห่งนี้ได้กลายเป็นนครรัฐที่น่าอยู่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มีสนามบินที่ดีที่สุด มีท่าเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ และเป็นประเทศที่มีพัฒนาด้านวัตกรรมระดับโลกที่โดดเด่น
ผลงานของนครรัฐที่มีขนาดเล็ก ขนาด จึงกลายเป็นประเด็น
ขนาดเล็ก = บริหาร พัฒนาได้ง่าย
หลายคนเชื่ออย่างนั้น จริงหรือ ?
ศาสตร์และศิลป์แห่งความเป็นเมือง
Singapore City Gallery ตั้งอยู่ในอาคาร URA Centre บนถนน Maxwell เล่าขานเรื่องราวการเปลี่ยนผ่านตัวเมืองของพวกเขาตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา
พื้นที่ประเทศที่มีขนาดเล็ก ไม่ใช่สิ่งได้เปรียบสำหรับพวกเขา หากแต่เป็นข้อจำกัด เป็นโจทย์ใหญ่ที่พวกเขาต้องหาวิธีแก้ไข เพื่อนำพาเศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันประชากรที่อยู่อาศัยต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีอีกด้วย
หน้าที่ดังกล่าวเป็นความรับผิดชอบของหน่วยงานชื่อ Urban Redevelopment Authority เรียกคำย่อง่าย ๆ ว่า URA ที่จะต้องออกแบบวางผังเมืองตอบโจทย์ดังกล่าว ขณะเดียวกัน สิ่งที่ URA เน้นย้ำควบคู่ไปกับการวางผังเมืองคือการ “อนุรักษ์อาคารเก่า” เพื่อรักษารากเหง้าของพวกเขา ในการนำพาสิงคโปร์เติบโตเป็นนครรัฐที่น่าอยู่ และน่าออกมาใช้ชีวิต
งานแสดงศาสตร์และศิลป์ความเป็นตัวเมืองของสิงคโปร์ แสดงผ่านสื่อหลากชนิด ทั้งภาพวิดิทัศน์ผ่านจอโปรเจคเตอร์โค้งขนาดใหญ่ 270 องศา สื่อมัลติมีเดียแบบปฏิสัมพันธ์ ภาพแสดงบนทางเดินขนาดยาว โมเดลแบบจำลองผังเมืองขนาดใหญ่ สมุดภาพขนาดยักษ์ ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นคล้ายคลึงกับศูนย์แสดงงานผังเมืองของเมืองใหญ่อื่น ๆ ของโลก
หากงานแสดงใน City Gallery ของสิงคโปร์ มีสิ่งน่าสนุก ชวนสนใจ ให้ผู้มาเยือนค้นหาคำตอบที่ต่างจากเมืองใหญ่อื่น ๆ นั่นคือ URA เอาชนะข้อจำกัดของประเทศที่มีพื้นที่ใช้สอยอย่างจำกัดจนกลายเป็นนครรัฐที่น่าอยู่แห่งหนึ่งของโลกได้อย่างไร และอย่าลืมว่าความเป็นนครรัฐ หรือประเทศที่อยู่ในเมืองเดียวนั้น ทำให้ต้องจัดสรรพื้นที่ให้ใช้ประโยชน์ทุกด้านได้อย่างครบถ้วน เฉกเช่นประเทศหนึ่ง ๆ จำเป็นต้องมี นั่นคือ จะต้องมีพื้นที่กองทัพ พื้นที่เก็บน้ำ พื้นที่กำจัดขยะอยู่ในตัวเมืองที่มีเพียงเมืองเดียวของพวกเขา
Land Reclamation ขยายพื้นที่ด้วยการถมทะเล
วิธีการแรกที่ง่ายที่สุด…. เมื่อพื้นที่น้อยนัก ก็ถมทะเลเพิ่มพื้นที่เสียเลย สิงคโปร์เริ่มถมทะเลครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1880 จนถึงปัจจุบันได้พื้นที่เพิ่มจากการถมทะเล 137 ตารางกิโลเมตร และยังมีแผนที่จะถมทะเลเพิ่มพื้นที่อีก 100 ตารางกิโลเมตรในปี 2030 แต่ใช่ว่าจะถมทะเลกันได้เรื่อย ๆ ไม่สิ้นสุด พวกเขาต้องเก็บพื้นที่ชายฝั่งไว้เป็นท่าเรือ เป็นชายหาดสำหรับพักผ่อน เป็นพื้นที่ประมง และยังต้องคำนึงถึงผลกระทบถึงสภาพสิ่งแวดล้อมด้วย
Going Upward ขยายพื้นที่แนวตั้ง
เพื่อไม่มีพื้นที่แนวราบให้ขยาย ก็ขยายทางแนวตั้ง URA เน้นสร้างตึกสูงเพิ่มประโยชน์ใช้สอยบริเวณใจกลางเมือง สถานีรถประจำทาง และสถานีรถไฟใต้ดิน
Going Undergroud ขยายพื้นที่ใต้ดิน
นอกจากขยายพื้นที่การใช้สอยทางแนวตั้งแล้ว การลงสู่ใต้ดินเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง นอกจากใช้พื้นทีใต้ดินสำหรับ วางท่อน้ำ ก๊าซ ระบบรถไฟใต้ดิน คลังเก็บน้ำมัน คลังแสงใต้ดิน ระบบบำบัดน้ำเสียแล้ว สิงคโปร์ยังมีโครงการที่จะสร้างเมืองวิทยาศาสตร์ (Science City) สำหรับทดลองทำงานวิจัยต่าง ๆ ในอนาคตอีกด้วย
Under One Roof ใช้พื้นที่ให้อเนกประสงค์
งานบริการด้านต่าง ๆ ที่ใกล้เคียงกัน เช่น ห้องสุมด ศูนย์ดูแลเด็กเล็ก Community Club ต่าง ๆ ถูกรวบไว้ในอาคารเดียวกัน เพื่อใช้ประโยชน์จากสถานที่ที่มีอยู่อย่างจำกัดได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
Doubling Up ใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์
สิงคโปร์จัดสรรพื้นที่ 2 ใน 3 ของประเทศ สำหรับช่วยในการเก็บกักน้ำฝน เปล่า… พื้นที่ 2 ใน 3 นั้น ไม่ได้ เป็นอ่างเก็บน้ำทั้งหมด แต่หมายรวมถึงพื้นที่สีเขียวของพวกเขา พื้นที่ดังกล่าวต้องไม่ใช่แค่ที่พักผ่อนหย่อนใจ แต่จะต้องช่วยดูดซับน้ำไว้ด้วย ขณะเดียวกันอาคารใช้สอยต่าง ๆ ต้องอออกแบบให้มีพื้นที่เก็บน้ำฝน ไม่ปล่อยให้ไหลลงท่อระบายน้ำอย่างเสียเปล่า และสุดท้ายอ่างเก็บน้ำ ไม่ใช่แค่อ่างเก็บน้ำ หากต้องทำหน้าที่เป็นสถานที่สันทนาการอีกด้วย เช่นเป็นที่เล่นกีฬาทางน้ำ ตกปลา และกิจกรรมกลางแจ้งต่าง ๆ
เมื่อแก้ปัญหาพื้นที่ที่มีอย่างจำกัดได้แล้ว สิ่งต่อไปคือการแต่งหน้าทาปากตัวเมือง ให้มีเสน่ห์ดึงดูดด้วยศาสตร์และศิลป์ของการออกแบบ
เริ่มจากรูปทรงของตึกที่อยู่ในพื้นที่ละแวกเดียวกัน รูปทรงควรมีความแตกต่าง สูงต่ำลดหลั่นไม่เบียดบังกัน เพื่อสร้างทัศนียภาพภายในตัวเมืองให้สวยงาม
สวนบนดาดฟ้าและบริเวณพื้นผิวเปลือกนอกของอาคาร เป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับตัวเมือง ลดอุณหภูมิของตัวอาคารและช่วยให้ชาวเมืองรู้สึกเหมือนทำงานและอยู่อาศัยในแวดล้อมของสวนสีเขียวตลอดเวลา
เน้นออกแบบภูมิทัศน์ของหลังคาสวยเป็นพิเศษ เพราะหลังคาของตึกเปรียบเสมือนมงกุฏ มงกุฏที่สวยงาม ย่อมบันดาลให้เมืองสวยงามยิ่งขึ้น
ลานโล่งภายในตัวเมือง เปรียบดั่งห้องนั่งเล่นที่ผู้คนออกมาใช้ชีวิตร่วมกัน อาจเป็นสวนเล็ก ๆ ในชุมชน ลานกว้างของห้างสรรพสินค้า ลานเหล่านี้ต้องออกแบบให้ปรับเป็นพื้นที่จัดแสดงงานตามเทศกาล งานกิจกรรมต่าง ๆ ได้ด้วย
ทางเดินเท้าออกแบบให้เชื่อมต่อเป็นเครือข่าย เพื่อเชื่อมพื้นที่ภายในตัวเมืองเข้าหากัน ทางเดินเหล่านี้ต้องมีความปลอดภัย สะดวกสบาย อาจเป็นทางเดินบนถนน ยกระดับขึ้นสูง หรือลงใต้ดินก็ได้
ท้องถนน ที่นำพาผู้คนไปยังส่วนต่าง ๆ ของตัวเมือง จะต้องออกแบบให้มีระยะระหว่างขอบตึก จัดแสงไฟอย่างเหมาะสม จัดวาง ต้นไม้ เฟอร์นิเจอร์ งานศิลปะต่าง ๆ อย่างสวยงาม
Singapore City Gallery นำเสนอเเรื่องรางข้างต้นผ่านสื่อหลากชนิดได้อย่างน่าสนใจ เมื่อก้าวเท้าออกจากอาคาร URA Centre สัมผัสกับตัวเมืองจริง ๆ ด้านนอก ช่วยให้เข้าใจ รู้ที่มาที่ไป วิธีคิดของชาวสิงคโปร์ ทำให้การเที่ยวเมืองสิงคโปร์คราวนี้สนุกขึ้นเยอะเลยทีเดียว
The post ศาสตร์และศิลป์แห่งความเป็นเมือง @ Singapore City Gallery appeared first on iUrban.
Credit: ศาสตร์และศิลป์แห่งความเป็นเมือง @ Singapore City Gallery Web: iURBAN Fanpage: facebook.com/iURBAN.in.th
Comments
Post a Comment