ผลการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา at iURBAN
โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ( Chao Phraya for All ) จากรูปแบบสถาปัตยกรรมของโครงการ ทางเดิน-ทางจักรยานที่ออกแบบไว้จะมีความกว้างประมาณ 7 -10 เมตร บางส่วนอยู่บนบก ส่วนที่อยู่ริมน้ำนั้น รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ รองผู้จัดการด้านวิศวกรรมฝ่ายวิศวกรรมได้ศึกษาและสรุปใช้เสาสปัน (เสาเข็มกลมแรงเหวี่ยง) แบบกลมมนขนาด 80 เซนติเมตร วางคู่ 2 ต้น ระยะห่างต่อช่วงประมาณ 15 เมตร ในบางช่วงอาจมีระยะสั้นกว่านั้น เช่น ช่วงส่วนโค้งของทางเดิน หรือขึ้นสะพาน ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการไหลของน้ำน้อยมาก ไม่มีปัญหาต่อการกัดเซาะชายฝั่ง ทั้งนี้ การก่อสร้างระบบพรีคาสต์ หล่อสำเร็จมา โดยมองว่าจะไม่รบกวนชุมชน เพราะเป็นระบบหล่อสำเร็จรูปทำมาจากโรงงาน ขณะที่ความสูงของพื้นผิวทางเดินจะต่ำกว่าสันเขื่อนเฉลี่ย 1.25 เมตร จึงไม่บดบังทัศนียภาพอย่างที่มีผู้กังวล ส่วนระยะความลึกของปลายเสาเข็มอยู่ที่ระดับ 30 – 33 เมตร
ในด้านผลการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบสิ่งแวดล้อม รศ.ดร.วันเพ็ญ วิโรจนกูฏ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา กล่าวว่า แผนงานที่จะดำเนินการในพื้นที่ต่างๆ ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงจากสะพานพระราม 7– สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ระยะทางรวมประมาณ 14 กิโลเมตร ประกอบด้วยแผนงานโครงการต่างๆ 12 แผนงานนั้น การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงผลดีคือการออกแบบที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ด้วย การบูรณาการความคิดเห็นกับประชาชนทีอยู่ในชุมชนที่เกี่ยวข้องกับโครงการรวมทั้งความคิดเห็น ข้อเสนแนะของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีการออกแบบตาม กรอบแนวความคิดการพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยา ได้แก่ พัฒนาฟื้นฟูวิถีชีวิตริมแม่น้ำดั้งเดิม, การอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ,การส่งเสริมการสันทนาการและการพักผ่อนหย่อนใจของประชาชน ,การส่งเสริมระบบการสัญจรเชื่อมโยงพื้นที่ชุมชน ศาสนสถาน ตลอดช่วงริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา การส่งเสริมการจัดพื้นที่เพื่อการบริการชุมชนเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการให้บริการฉุกเฉินทั้งด้านสาธารณสุข และสาธารณภัย ซึ่งการออกแบบในลักษณะดังกล่าวเป็นมาตรการป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะในประเด็นด้านการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ และคุณภาพชีวิต
เสนอแนะมาตรการป้องกันและลดผลกระทบจากการก่อสร้าง
อย่างไรก็ตามยังมีผลกระทบสิ่งแวดล้อมเนื่องจากกิจกรรมการก่อสร้างโครงสร้างในลำน้ำ จะเห็นได้ว่าแผนงานที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าแผนงานอื่นๆใน 12 แผนงานดังกล่าว ได้แก่ แผนจัดทำทางเดินริมแม่น้ำ แผนพัฒนาสะพานคนเดิน และแผนปรับปรุงภูมิทัศน์เขื่อน ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบในด้านต่างๆ และควรมีมาตรการการก่อสร้างที่ดีและลดปัญหาผลกระทบ ดังนี้
- อุทกวิทยาและการไหลของน้ำ การก่อสร้างโครงสร้างต่างๆในแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้เกิดการยกตัวของระดับน้ำแม่น้ำเพียงเล็กน้อย โดยเสาทรงกลมมนของทางเดินมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 80 ซม. จะมีผลทำให้ระดับน้ำยกตัวบริเวณหน้าเสาสูงขึ้นเพียง 3 ซม. เป็นระยะห่างออกไปไม่เกิน 1 เมตร เมื่อผ่านพ้นเสาไปแล้วระดับน้ำจะกลับสู่สภาวะปกติ และในด้านความเร็วของน้ำช่วงที่ผ่านเสาจะมีความเร็วเพิ่มขึ้นเพียงประมาณ 006 ม./วินาที หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 0.007 โครงสร้างเสาทรงกลมมนกับการไหลผ่านของกระแสน้ำในช่วงน้ำขึ้นน้ำลงไม่เกิดผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ ในอันที่จะก่อให้เกิดผลกระทบด้านการทับถมหรือกัดเซาะของตะกอน ประกอบกับตลอดแนวตลิ่งมีการก่อสร้างกำแพงป้องกันตลิ่ง ดังนั้นจึงไม่เกิดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงริมตลิ่งของแม่น้ำเจ้าพระยา
- คุณภาพน้ำ จากกิจกรรมการก่อสร้างโครงการ การตอกเสาเข็ม การหกรั่วไหลของวัสดุก่อสร้างลงในลำน้ำ อย่างไรก็ตามผลกระทบต่างๆเหล่านี้จะเกิดขึ้นในเฉพาะบริเวณที่อยู่ใกล้ตำแหน่งที่ทำการก่อสร้างเท่านั้น และโครงการจะต้องจัดให้มีมาตรการป้องกันแก้ไขผลกระทบโดยการเสาเข็มแบบ Spun pile และทำการขนส่งวัสดุก่อสร้างสำเร็จรูปโดยทางเรือ และได้เสนอให้มีมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบด้านคุณภาพน้ำระหว่างการก่อสร้างโครงการด้วย
- คุณภาพอากาศ ผลกระทบชั่วคราวระหว่างการก่อสร้าง เช่น ฝุ่นละออง เสียงดัง และความสั่นสะเทือนจากเครื่องจักรกลในการก่อสร้าง จึงต้องใช้หลักปฏิบัติการทีดีในการก่อสร้าง เช่น การใช้เข็มแบบ Spun pile ทำการขนส่งวัสดุก่อสร้างสำเร็จรูปโดยทางเรือ หลีกเลี่ยงการก่อสร้างในบริเวณชุมชนหรือวัดในช่วงเวลากลางคืน หลีกเลี่ยงการตอกเสาเข็มบริเวณใกล้โรงเรียนในช่วงทีมีการเรียนการสอน ควบคุมและตรวจวัดการปล่อยมลสารและเสียงจากเครื่องจักร และยานพาหนะที่ใช้ในการก่อสร้าง และได้เสนอให้มีมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบด้านคุณภาพอากาศ เสียง และความสั่นสะเทือนระหว่างการก่อสร้างโครงการด้วย
- ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เป็นผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับชุมชนผู้อยู่อาศัยใกล้กับพื้นที่ก่อสร้างโครงการทั้งในระยะระหว่างการก่อสร้างโครงการ และระยะเปิดดำเนินการ ดังนั้นจึงมีมาตรการในการป้องกันแก้ไขผลกระทบ ดังนี้ ออกแบบโครงสร้างทางเดินริมแม่น้ำให้มีระยะห่างจากบ้านเรือนของประชาชน ควบคุมพฤติกรรมของคนงานก่อสร้างอย่างเคร่งครัด สร้างที่พักของแรงงานก่อสร้างให้ห่างจากชุมชน ส่วนในระยะดำเนินการหรือเปิดใช้โครงการจะต้องจัดให้มีระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด การกำหนดเวลาเปิดปิดในการใช้เส้นทาง จัดให้มีเจ้าหน้าที่สายตรวจประจำจุดและตรวจตราตลอดแนวโครงการอย่างสม่ำเสมอ และได้เสนอให้มีมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบที่มีต่อชุมชนโดยการสัมภาษณ์ชุมชนระหว่างการก่อสร้างและเปิดใช้โครงการด้วย
The post ผลการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา appeared first on iUrban.
Credit: ผลการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา Web: iURBAN Fanpage: facebook.com/iURBAN.in.th
Comments
Post a Comment