14 ทิปส์ง่ายๆ โอนเงินผ่านโทรศัพท์ + Internet Banking ยังไงไม่เสี่ยงโจร at iURBAN
ตั้งแต่โลกเรามี internet banking สามารถให้เราโอนเงินและทำธุรกรรมผ่านทางออนไลน์ได้ ก็ช่วยให้ทุกคนสามารถประหยัดเวลาลงไปได้มาก และยิ่งวันนี้ที่เราสามารถโอนเงินผ่านโทรศัพท์ หรือซื้อของต่างๆ ได้จากมือถือแล้วยิ่งช่วยให้การจับจ่ายใช้สอยและเศรษฐกิจในประเทศเติบโตขึ้นมาก
แต่ทุกเรื่องที่มีด้านสว่างก็มีด้านมือ ยังคงมีโจรที่ใช้ความประมาททางเทคโนโลยีคอยดักคนรู้ไม่ทันอยู่ทุกยุคทุกสมัย เราจะรอให้เกิดเหตุการณ์และตามจับก็คงจะสายเกินไป วันนี้ทาง iUrban จึงอยากแนะนำ 10 วิธีง่ายๆ ที่จะทำให้คุณสามารถใช้ Internet Banking ได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น ลองไปดูกันครับ
1. อย่าบอก Password กับใคร
พาสเวิร์ด คือกุญแจที่เข้าบัญชีคุณโดยตรง อย่าบอกแม้แต่เจ้าหน้าที่ธนาคาร แม้ว่าคุณจะลืมพาสเวิร์ด internet banking หรือลืม passcode สำหรับการโอนเงินผ่านโทรศัพท์ เพราะไม่มีธนาคารไหนที่มีนโยบายให้เจ้าหน้าที่ถามพาสเวิร์ดจากลูกค้า เมื่อลูกค้าจำพาสเวิร์ดไม่ได้ พนักจะทำได้เพียงแค่จัดส่งพาสเวิร์ดใหม่ให้คุณเท่านั้น ถ้าหากว่ามีใครมาถาม Password จากคุณไม่ว่าน่าเชื่อถือแค่ไหน อย่าบอกใครนะครับ
2. หลีกเลี่ยงเครื่องคนอื่น
การโอนเงินผ่านโทรศัพท์ส่วนมากจะใช้ได้เฉพาะเครื่องอยู่แล้ว กังวลใจน้อยหน่อย แต่การทำธุรกรรม internet banking ที่ต้องทำผ่านคอมพิวเตอร์แล้ว ถ้าหากเป็นไปได้พยายามหลีกเลี่ยงการใช้อินเทอร์เน็ตในที่สาธารณะ ไม่ว่าจะร้านเน็ต โรงเรียน หรือที่ไหนก็ตามที่ไม่ใช่เครื่องของคุณ เพราะมีโอกาสที่จะมีโปรแกรมจำการเข้าเว็บไซต์ และจำการกด keyboard ก็จะทำให้เขาได้พาสเวิร์ดคุณได้อย่างง่าย หรือบางทีคอมพิวเตอร์เครื่องนั้นก็ติด Spyware คอยดักโดยที่เจ้าของร้านไม่รู้เรื่องก็มี เมื่อจำเป็นต้องใช้จริงๆ ให้กลับมาเปลี่ยนพาสเวิร์ดบนเครื่องที่ไว้ใจได้ของคุณอย่างเร็วที่สุด
3. เปลี่ยน Password บ่อยๆ
บางที hacker ก็ลงมือแบบหว่านแหทั่วโลกจึงมีหลายครั้งที่พาสเวิร์ดของเหยื่อหลุดออกไปถึงมือ hacker แล้วแต่ว่ายังไม่ถูกถอนเงินหรือโอนเงินออกมา บางครั้งได้ไปเป็นหมื่นรายชื่อ hacker จึงค่อยๆ ทยอยทำการลงมือ อาจจะยังมาไม่ถึงคุณเท่านั้น ดังนั้น คุณเองก็ควรเปลี่ยนพาสเวิร์ดบ่อยๆ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หรือถี่กว่านั้นเท่าไหร่ก็ได้ เท่าที่คุณจะไม่ลืมพาสเวิร์ดใหม่ของตัวเอง
4. มองหากุญแจล็อค หรือ ต้องมี https:// บนชื่อเว็บ
เว็บทั่วไปจะใช้ที่อยู่ว่า http://www.ชื่อเว็บ… แต่ทุกเว็บดีๆ เว็บที่จริงจัง ที่มีการล็อกอินหาข้อมูลของคุณมีค่า ให้มองหาชื่อเว็บที่ขึ้นต้นด้วย https:// ก่อนการล็อกอิน (S หมายถึง Secure) เพราะข้อมูลของคุณเช่น พาสเวิร์ดและเนื้อหาทุกอย่างจะถูก “เข้ารหัส” เมื่อส่ง-รับกับเซิร์ฟเวอร์ และมาถูก “ถอดรหัส” ที่เครื่องของคุณเพื่อให้อ่านรู้เรื่อง (การทำงานถอดรหัสใช้เวลาแค่เสี้ยววินาที มนุษย์ไม่ทันรู้สึก)
แม้ว่าข้อมูลของคุณจะถูกดักกลางทางได้ด้วย Wi-Fi ฟรี, Router ที่ออฟฟิศ หรือแม้แต่ ISP (ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต เช่น AIS, True, DTAC, CAT, 3BB, TOT, ฯลฯ) ไปแล้วก็ตาม แต่ข้อมูลที่ถูกดักกลางทางก็จะถูกเข้ารหัสให้อ่านไม่รู้เรื่องเพราะเครื่องที่จะสามารถถอดรหัสได้มีแค่เครื่องปลายทาง เว็บที่ใช้ https ไม่ได้มีแค่วงการธนาคาร แต่เว็บสำคัญของโลกที่ต้องล็อกอินอย่างเช่น Facebook หรือ Gmail ก็ใช้ระบบแบบนี้เช่นกัน ถ้าสมมุติบางเครื่องไม่เห็น https ง่ายๆ ก็สามารถมองหารูปกุญแจล็อกได้เลย
5. ใช้โปรแกรม Anti-Virus และ Anti-Spyware ของแท้
คอมพิวเตอร์ทุกเครื่องรวมถึงมือถือ อาจจะลงโปรแกรมลงแอปพลิเคชั่นแปลกๆ ไว้ บางทีก็ลงแบบไม่รู้ตัว (กรณีไม่รู้ตัวส่วนมากจะเกิดกับคอมพิวเตอร์มากกว่ามือถือ) เราเรียกพวกนี้ว่า Spyware หรือ Malware คอยแอบส่งข้อมูลกลับไปหาเจ้าของมัน ซึ่งก็จัดการได้ด้วยการติดตั้ง Anti-Virus ที่ถูกลิขสิทธิ เพราะคุณจะสามารถอัพเดท Anti-virus ได้เรื่อยๆ ของถูกลิขสิทธินี่ของฟรีก็มีเยอะนะครับ ลองเลือกติดตั้งได้จาก PCMag.com (1 เครื่องควรมีแค่ 1 Anti-virus เท่านั้น ไม่งั้นเครื่องจะช้า) ส่วนมือถือ ให้ลบแอปที่คุณไม่ใช้ ที่คุณไม่รู้จัก ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันทำงานอะไรออกให้หมดก็พอแล้ว
6. หลีกเลี่ยง software เถื่อน
ของฟรีไม่มีในโลก หลายครั้งการโหลด software เถื่อน โหลดบิท ก็ทำให้ได้ของแถมติดมาแบบบาดเจ็บสาหัส ไม่คุ้มค่า software ของแท้เล๊ยยยย ใน software เถื่อนเป็นที่ง่ายเหลือเกินที่ hacker จะเข้าไปแก้ข้อมูลเพิ่มให้ทำงานเกินมาอีกนิดหน่อย พอเอาไปปล่อยบนเน็ตก็มีคนช่วยกันแชร์เยอะแยะไปหมดเลย แถมเหยื่อก็ช่วยเอาไปติดตั้งเอง แถมยังรันโปรแกรมให้เองอีกด้วย งามเลยทีนี้
7. เลือกลง Apps จาก AppStore และ PlayStore เท่านั้น
สำหรับมือถือที่ไปลง Apps ฟรี จ่ายแค่ 300 ได้ฟรีหลายร้อยแอป อะไรแบบนี้ให้ระวัง ส่วนมาก 90% ของคนที่ลงแอปแบบร้านลงให้เหมาโหล ดูแอปไม่หมดหรอกว่าติดอะไรมาบ้าง ดังนั้นอาจจะติด Apps ที่ไม่ผ่านการตรวจสอบจาก Apple และ Google ด้วยก็มี ไม่เฉพาะแอปที่ใช้โอนเงินผ่านโทรศัพท์ แต่หมายถึงแอปอื่นๆ เช่น แอปเช็คแบตเตอรี่ แอปแปลกๆ ที่คุณไม่แน่ใจที่มา ฯลฯ
หรือคนที่ลง Apps ตรงเข้าเครื่องไม่ผ่านระบบ official เหล่านี้ ก็มีความเสี่ยงที่ hacker จะมาในคราบนักพัฒนา แถมโปรแกรมส่งข้อมูลกลับไปหาตัวเองได้อีกแล้ว ดังนั้น พยายามเลือก Apps จากที่ผ่านการตรวจสอบและได้คะแนนเรตติ้งดีในระดับหนึ่งแล้ว
8. ให้ Google ช่วยตรวจสอบ
กรณีที่โจรสร้างเว็บไซต์ปลอมหลอกเอาไว้ เป็นเคสที่ทั่วโลกเราเรียกกันว่าเว็บ “phishing” ฟิชชิ่ง มันพ้องเสียงกับคำว่า “fishing” ที่แปลว่าตกปลา เพราะโจรจะทิ้งเว็บปลอมไว้เป็นเหยื่อล่อ หน้าตาเหมือนเป๊ะ! รอวันที่คนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นเว็บธนาคาร ซึ่ง Google มีนโยบายใหญ่มากในการต่อสู้กับเว็บไซต์ phishing เหล่านี้ ถึงวันนี้เกือบทั้งหมดของที่เสิร์ชชื่อธนาคารถูก จะเจออันดับ 1 เป็นเว็บที่ถูกต้อง (ยกเว้นธนาคารแปลกๆพึงระวัง)
9. อย่าใช้ Wi-Fi สาธารณะ
ที่ข้อ 4 เราบอกไปว่า ถ้าเป็น https แล้วจะไม่สามารถขโมยพาสเวิร์ดได้ ที่จริงแล้วน่าจะราว 99% ได้ อีก 1% ที่เหลือ มันขึ้นอยู่กับว่า Wi-Fi นั้นถ้าเกิดเป็นของที่ hacker มือเทพเซ็ตอัพขึ้นมา หรือสามารถเข้าถึงได้ ทางเทคนิค(ซึ่งขอข้ามการอธิบายเพราะยาวและงงแน่) ก็ยังสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อยู่ดี เพียงแต่อย่างที่บอกคือ Free Wi-Fi ในโลกนี้ส่วนมากก็คนติดตั้งก็ไม่ได้เป็น hacker มือเทพ หรือ Free Wi-Fi จาก ISP เจ้าใหญ่ๆ ก็มักจะคัดเลือก system admin ที่ผ่านการตรวจสอบเรื่องทุจริตเป็นประจำอยู่แล้ว … แต่ถ้าจะให้ดี ก็อย่าพยายามทำธุรกรรมผ่าน Free Wi-Fi เปลี่ยนไปใช้ 3G/4G แทน โชคดีที่แอปธนาคารหลายเจ้าก็ไม่อนุญาตให้โอนเงินผ่านโทรศัพท์ด้วยการเชื่อมต่อด้วย Wi-Fi เช่นกัน
10. อย่าเชื่ออีเมลด่วนและขอข้อมูล
เวลาคนโดนเมลมาบอกว่า “ธนาคารตรวจสอบว่าคุณเป็นหนี้เกินวงเงินที่กำหนด 600,000 บาท กรุณาให้ข้อมูลก่อนธนาคารจะดำเนินการฟ้อง” บลาๆๆๆ ฯลฯ ข้อความเหล่านี้ถูกส่งมาเพื่อเร้าให้คุณรู้สึกกังวล ต้องรีบกดเข้าไปให้ข้อมูลทันที ระวัง!! ไม่มีธนาคารไหนส่งแบบนี้ และถ้าเจอข้อความแบบนี้ ให้ยกหูโทรติดต่อตรงหาธนาคารด้วยเบอร์กลางเลยจะดีกว่า เพราะทุกวันนี้โจรยังใช้วิธีนี้เพื่อหลอกให้คนไปที่เว็บไซต์ phishing (ข้อ8) เพื่อล็อกอิน กว่าจะรู้ก็เสียพาสเวิร์ดเสียแล้ว
11. Logout เมื่อเลิกใช้
รู้หรือไม่ นี่เป็นหนึ่งสาเหตุที่ทำให้คนเราโดนแฮคบัญชี ไม่เฉพาะ internet banking แต่รวมถึง facebook และอื่นๆด้วย!! จะใช้คำว่าแฮคก็ไม่ถูก เพราะมันไม่ได้แฮคอะไรเลย ส่วนมากถ้าเป็น facebook คุณก็ลืมล็อกอินค้างไว้ (กดจำพาสเวิร์ดให้ร้านอินเทอร์เน็ตเขาฟรีอีกด้วย) คนมาเล่นต่อก็เสร็จสิครับ บางร้านเวลาหมด ก็ตัดหน้าจอดับ แต่ระบบยังเปิดอยู่นะ ส่วนผู้ใช้งานไม่รู้ ไม่อยากเสียเงินเพิ่มก็เดินออกมาเลย (อันนี้ก็เสร็จ) ยังดีที่ระบบธนาคารส่วนมากถ้าปิดหน้าจอก็คือจะล็อกเอ้าท์เองเลย แต่ยังไงก็กดเพื่อความมั่นใจด้วยนะครับ
อันนี้ควรทำทั้งแอปโอนเงินผ่านโทรศัพท์และเว็บไซต์ internet banking เลยนะครับ
12. สมัครบริการ SMS/Email แจ้งเตือน
การสมัครแจ้งเตือนเมื่อมีเงินเข้าออกทางอีเมล ส่วนมากเกือบทุกธนาคารที่มี internet banking จะสมัครใช้บริการ (ทั้งนี้เครื่องมือถือคุณก็ควรจะเช็คเมลแบบ push ได้ด้วย เพื่อเตือนทันทีที่มีเมลมา) ส่วนบริการแจ้งเตือน SMS จะมีค่าบริการเริ่มต้นที่ 10 บาทต่อเดือน ถึง 20 บาทต่อเดือนแล้วแต่ธนาคาร ดูรายละเอียดได้ที่นี่ หลายครั้งที่ hacker ไม่ได้โอนเงินพรวดเดียวทั้งบัญชี เพราะ 1.ติดลิมิต 2.เจ้าของบัญชีจะรู้ตัวได้ง่าย จึงใช้วิธีค่อยๆ หรอยเงินออกมาวันละนิด ด้วยเหตุนี้การเปิดแจ้งเตือนไว้ก็คุ้มค่าอยู่เหมือนกัน
13. อย่าให้เลขบัตรเครดิตกับเว็บที่ไม่น่าไว้ใจ
การซื้อของออนไลน์ด้วยบัตรเครดิตเป็นอะไรที่ สะดวกมาก ชีวิตดีทันทีที่มีบัตร ซื้อของก็ไวรูดปรื๊ดๆ แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องพึงระรึกไว้ก็คือ คนทำเว็บไซต์เองก็มีผิดพลาด และเว็บก็โดนแฮคได้ง่ายกว่าด้วย เมื่อถึงจุดชำระเงิน ถ้าท่านเลือกจะชำระด้วยบัตรเครดิต พยายามสังเกตว่า เป็นการจ่ายผ่าน payment gateway ที่เป็นบริษัทที่เป็นนักพัฒนาการชำระเงินโดยเฉพาะไหม? เพราะบริษัทพวกนี้จะลงทุนหลายล้านมากกว่าเพื่อการรักษาความปลอดภัย ยกตัวอย่างเช่น Paypal (จัดว่าน่าเชื่อถือที่สุดในโลก เจ้าของคือ Ebay) ส่วนในไทยก็มีเช่น Paysbuy, Omise ที่น่าสนใจเป็นต้น และลองสังเกตเสริมด้วยว่ามี https ตามข้อ 4 หรือไม่ ถ้าไม่มี https ด้วย และยังไม่ใช้ payment gateway ที่เชี่ยวชาญด้วย พวกเราใช้วิธีโอนเงินเอาเถอะครับ ปลอดภัยกว่า
14. แยกบัญชี Online
ตัดกังวลทั้งหมดทิ้งไป ข้อนี้เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับการ cut-loose ตัดโอกาสการเสียเงินทั้งบัญชีทิ้งไป ด้วยการแยกบัญชีที่ไว้ใช้สำหรับใช้จ่ายออนไลน์ออกมาเป็นอีกบัญชีที่มีเงินจำกัด จะใช้ทีค่อยโอนเงินเข้าไปที อาจจะโอนเงินเข้าไปพักไว้ 10,000 บาท ซึ่งแปลว่า แม้จะผิดพลาดแค่ไหนก็เสียเงินแค่ 10,000 บาทไม่เกินกว่านี้ ส่วนบัญชีอื่นจะมีเงินอยู่ 800,000 บาท หรือมากเท่าไหร่ ก็ยังอุ่นใจกว่าว่าจะไม่ต้องกังวล
ทั้ง 14 ข้อที่กล่าวมา น่าจะเสริมความรู้ความเข้าใจในการใช้งาน internet banking ได้จนถึงระดับโปรเลย ถึงตรงนี้แล้วก็อยากขอแนะนำผู้สนับสนุนบทความนี้ด้วยครับ
นั่นคือ C internet อินเทอร์เน็ตไฟเบอร์ออฟติกเทคโนโลยีแรงที่สุดจากผู้ให้บริการตัวจริงจาก กสท โทรคมนาคม ถ้าเกิดใครสนใจอัพเกรดเน็ตช้าๆ ที่บ้านที่ทำงานให้เร็วแรงลื่น สามารถติดต่อได้ที่ fanpage C internet หรือโทร 1322 ครับ และนอกจากนั้น iUrban เราก็เคยรีวิวถึงเน็ต fiber optic ไว้ด้วย ลองอ่านโพสเกี่ยวกับ C internet ได้ที่นี่เลยครับ
- เน็ตไฟเบอร์ Fiber Optic คืออะไร สายไฟเบอร์ออฟติกดีกว่าเน็ตบ้านแบบเดิมยังไง อธิบายแบบบ้านๆ
- 10 ข้อดีเมื่อติดเน็ตบ้านแบบ Fiber Optic ที่ทุกคนไม่ควรพลาด
- ร้านกาแฟยุคออนไลน์ เน็ตไม่ดี มีผลแค่ไหน? ฟังเสียงจากคนออนไลน์บางส่วน
- เน็ตไฟเบอร์ ลื่น-เสถียร-ครอบคลุม จากผู้ให้บริการตัวจริง C internet พบโปรเน็ตบ้านที่แรงคุ้มค่า
บทความเรื่องความเข้าใจ internet banking ถ้าถูกใจก็ฝากแชร์ต่อถึงเพื่อนๆ พ่อแม่ด้วยนะครับ โดยกดปุ่มแชร์ได้ที่ข้างล่างและด้านบนสุดคร้าบ
The post 14 ทิปส์ง่ายๆ โอนเงินผ่านโทรศัพท์ + Internet Banking ยังไงไม่เสี่ยงโจร appeared first on iUrban.
Credit: 14 ทิปส์ง่ายๆ โอนเงินผ่านโทรศัพท์ + Internet Banking ยังไงไม่เสี่ยงโจร Web: iURBAN Fanpage: facebook.com/iURBAN.in.th
Comments
Post a Comment