อัศจรรย์แห่ง “อาร์กโค้ง (Arch)” องค์ประกอบของสถาปัตย์โรมัน at iURBAN
อาร์กโค้ง (Arch) องค์ประกอบสุดอัศจรรย์แห่งโรมัน
อาร์กโค้ง เป็นองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมโรมันที่สำคัญที่สุด ว่ากันว่าการที่อาณาจักรโรมันรุ่งเรืองเป็นนักหนาในอดีตได้นั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอนิสงค์จากเจ้าอาร์กโค้งนี่แหละ เพราะการนำแท่งหินมาก่อเรียงกันจนเป็นวงโค้งคล้ายเกือกม้า โดยมีหินรูปลิ่มทรงสี่เหลี่ยมคางหมูขนาดใหญ่ที่เรียกว่า keystone เป็นแกนกลางอยู่ตรงกลางทำหน้าที่ยึดให้ส่วนอื่น ๆ อยู่ด้วยกันได้อย่างมั่นคงนั้นช่วยให้ขยายสัดส่วนของสิ่งก่อสร้างออกไปได้ทั้งความกว้าง และความสูงอย่างไม่มีขีดจำกัด จึงช่วยให้อาณาจักรโรมันสร้างสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ที่มั่นคงแข็งแรง ได้อย่างน่าอัศจรรย์ ทั้งสนามกีฬา ประตูชัย สะพาน กระทั่งท่อส่งน้ำ
โคลอสเซียม (Colosseum) สนามกีฬาที่เต็มไปด้วยอาร์กโค้ง
อัศจรรย์แห่งอาร์กโค้งที่มีชื่อเสียงที่สุดคงหนีไม่พ้นโคลอสเซียมสนามกีฬาทรงกลมขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วย อาร์กโค้ง ตั้งอยู่ ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี โคลอสเซียมนั้นก่อสร้างโดยดัดแปลงมาจากโรงละครกลางแจ้งของกรีก หากอาร์กโค้งทำให้ชาวโรมันสร้างโคลอสเซียมของพวกเขาให้มีขนาดใหญ่โตกว่าโรงละครกรีกมากนัก และเปลี่ยนบทบาทจากโรงละครกลายเป็นสนามกีฬาการต่อสู้ขนาดใหญ่ ระหว่างคนกับคน คนกับสัตว์ และสัตว์กับสัตว์ โดยจุคนดูได้ถึงกว่า 50,000 คน สะท้อนให้เห็นความนิยมของผู้คนสมัยนั้นที่มีต่อเกมการต่อสู้ที่โหดร้ายแต่อะไรล้วนไม่จีรัง เกมชนิดนี้ได้เสื่อมความนิยมจนยุติไปในที่สุด ส่วนหนึ่งสันนิษฐานว่าเป็นเพราะภัยจากแผ่นดินไหว ทำให้โคลอสซียมพังเสียหาย รวมทั้งการเกิดศึกสงครามระหว่างนั้นอีกด้วย
เมื่อจักรวรรดิโรมันล่มสลาย โคลอสเซียมได้ถูกปล่อยร้างทิ้งไว้ จนในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการได้ถูกรื้อถอนไปเป็นวัสดุใช้ในก่อสร้างโบสถ์ตามที่ต่าง ๆ ในกรุงโรม จนศตวรรษที่ 18 สันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 14 (Pope Benedict XIV) ได้ยกย่องให้สถานที่แห่งนี้เป็นแดนศักดิ์สิทธิ์ของผู้พลีชีพให้กับศาสนา เพราะแกลดิเอเตอร์ (Gladiator) ที่ถูกส่งลงไปต่อสู้ในสนามนั้นเป็นคริสต์ศาสนิกชนเสียจำนวนมาก เพราะในช่วงต้นของจักรวรรดิโรมัน จักรวรรดิได้กีดกัน และไม่ยอมรับศาสนาคริสต์ เพราะเห็นว่าคำสอนหลายอย่างขัดแย้งกับการปกครองของทางการ พวกที่นับถือศาสนาคริสต์จึงถือเป็นพวกนอกรีตใครที่ถูกจับได้จะต้องถูกบังคับให้ลงไปต่อสู้ในโคลอสเซียม
ฉนั้นระหว่างที่เดินชมโคลอสเซียมไปรอบ ๆ แล้วบังเอิญไปเห็นสัญลักษณ์ไม้กางเขนเหนือประตูทางเข้าอย่าได้สงสัยว่าเหตุใดสังเวียนการต่อสู้ที่โหดร้ายในอดีตจึงกลายเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ไปได้
ท่อส่งน้ำโรมัน (Roman Aqueduct) ความอุดมสมบูรณ์แห่งโรมัน
ถัดจากสนามกีฬาขนาดใหญ่ของจักรวรรดิโรมัน สิ่งก่อสร้างที่มีองค์ประกอบอาร์กโค้งชวนอัศจรรย์ที่ได้รับการกล่าวถึงบ่อย ๆ คือท่อส่งน้ำโรมัน (Roman Aqueduct)
จักวรรดิโรมันแผ่อำนาจไปถึงไหน จะต้องสร้างท่อส่งน้ำไปถึงที่นั่นเพื่อลำเลียงน้ำสะอาดไปถึง
เซโกเวีย (Segovia) เป็นเมืองเล็ก ๆ ตั้งอยู่ห่างจากเมืองแมดริดไปทางทิศตะวันตกไม่ถึงร้อยกิโลเมตร ด้านหน้าทางเข้าตัวเมืองนั้น มีสิ่งก่อสร้างแบบอาร์กโค้งขนาดใหญ่สองชั้นพาดตัดผ่านลานกว้างไปยังเนินเขาด้านบนที่อยู่ด้านหลัง นั่นเป็นภาพแปลกตาต้อนรับผู้มาเยือน เจ้าอาร์กโค้งขนาดใหญ่ที่ยาวเหยียดนั้นคือท่อส่งน้ำโรมันโบราณนั่นเอง หากมองสังเกตดี ๆ จะเห็นท่อลำเลียงน้ำที่อยู่ด้านบนสุดของอาร์กโค้ง ขณะส่วนล่างที่เห็นคือสะพานรองรับตัวท่อลำเลียง
ตัวเมืองเซโกเวีย นั้นตั้งอยู่บนเนินเขาหลังลานกว้าง ทางเดินเข้าสู่ตัวเมืองจึงเป็นทางลาดชันขนานไปกับท่อส่งน้ำ ขณะที่เดินเข้าสู่ตัวเมือง จินตนาการนึกภาพออกเลยว่าจักวรรดิโรมันโบราณ ลำเลียงน้ำสะอาด ผ่านท่อส่งน้ำขนาดใหญ่เข้าสู่ตัวเมืองตามที่ต้องการได้อย่างไร
ประตูชัย (Triumphal Arch) เฉลิมฉลองชัยชนะที่ยิ่งใหญ่แห่งโรมัน
ประตูชัย เป็นอีกหนึ่งสิ่งก่อสร้างในยุคโรมันที่มีอาร์กโค้งเป็นองค์ประกอบสำคัญ ชาวโรมันนั้นเป็นชนชาตินักรบ เมื่อรบพุ่ง ได้รับชัยชนะที่ใดก็จะสร้างประตูชัยขึ้นมาเพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะ และคงเป็นเพราะถนนนั้นเป็นเสมือนเครื่องมือที่นำพาความยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิโมันไปสู่ที่ต่าง ๆ ละมัง จึงมักสร้างประตูชัยคร่อมทางถนน เป็นการประกาศความยิ่งใหญ่สำแดงต่อผู้สัญจรไปมา
มองอย่างไร ก็ไม่ยักคิดว่าประตูชัยนั้นสวยงาม เป็นสิ่งก่อสร้างทรงสี่เหลี่ยม หนา ๆ หนัก ๆ ปัจจุบันคงหลงเหลือให้ได้ชมตามประเทศต่าง ๆ ที่จักรวรรดิโรมันเคยแผ่อำนาจไปถึง 11 ประเทศ ได้แก่ประเทศอัลจีเรีย ฝรั่งเศส อิตาลี ตูนิเซีย ตุรกี เลบานอน สเปน ลิเบีย จอร์แดน กรีซ และโครเอเชีย
ถ้าหากได้ไปเยือนโคลอสเซียมแล้ว ใกล้ ๆ กันนั้น เป็นที่ตั้งของประตูชัยคอนสแตนติน (Constantine Triumphal Arch) ที่ยังคงสภาพที่สมบูรณ์มาก ๆ สร้างขึ้นเพื่อสดุดีจักรพรรดิคอนสแตนตินที่รบชนะกลุ่มผู้ต่อต้าน ประกอบด้วยประตูโค้ง 3 ประตู ประตูโค้งตรงกลาที่สูงที่สุด มีความสูงอยู่ที่ 11.5 เมตร และแหงนหน้ามองไปที่ด้านบน จะเห็นบนนั้นตกแต่งด้วยคำจารึก และรูปนูนบรรยายเหตุการณ์เพื่อสรรเสริญองค์จักรพรรดิอยู่บนนั้น
สะพาน (Roman Bridge) การเชื่อมต่อแห่งโรมัน
สะพานเป็นอีกหนึ่งสิ่งก่อสร้างในยุคโรมัน ถนนโรมันตัดผ่านไปยังที่ใด หากต้องข้ามผ่านทางน้ำ ก็อาศัยสะพานนี่แหละเชื่อมต่อไปอีกฝั่งด้านหนึ่ง นักวิชาการชาวอิตาลี ได้ทำการสำราจพบว่า ปัจจุบันยังคงหลงเหลือสะพานโรมัน 961 แห่ง ใน 26 ประเทศ และเฉกเช่นเดียวกับสิ่งก่อสร้างอื่น อาร์กโค้งยังคงเป็นองค์ประกอบสำคัญ ที่ทำให้สะพานเหล่านี้มั่นคงแข็งแรง
ตุรกีเป็นอีกหนึ่งประเทศที่เคยรุ่งเรืองเป็นศูนย์กลางของจักรวรรดิโรมัน จึงไม่ต้องแปลกใจ หากพบสิ่งก่อสร้างสมัยยุคโรมันโบราณหลงเหลือให้ชมมากมาย
สะพานเซนเดรีย (Cendere Bridge) เป็นสะพานโรมันที่มีองค์ประกอบแบบอาร์กโค้งได้สัดส่วนสวยงาม สร้างขึ้นข้ามคลองชาบินาส (Chabinas Creek) ทางตอนใต้ของประเทศตุรกี เป็นสะพานใหญ่อันดับสองของจักรวรรดิโรมันที่ยังหลงเหลืออยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ เป็นสะพานที่เรียบง่าย ไม่มีการตกแต่งอะไรเป็นพิเศษ สร้างขึ้นจากหินทั้งหมด 96 ก้อน แต่ละก้อนหนักประมาณ 10 ตัน นอกจากอาร์โค้งที่เห็นเด่นชัดแล้ว ตรงเชิงสะพานทั้งสองด้าน ปรากฏเสาโรมันแบบดอริกตั้งอยู่ อันเป็นลักษณะเด่นอีกประการหนึ่งของสถาปัตยกรรมแบบโรมัน
The post อัศจรรย์แห่ง “อาร์กโค้ง (Arch)” องค์ประกอบของสถาปัตย์โรมัน appeared first on iUrban.
Credit: อัศจรรย์แห่ง “อาร์กโค้ง (Arch)” องค์ประกอบของสถาปัตย์โรมัน Web: iURBAN Fanpage: facebook.com/iURBAN.in.th
Comments
Post a Comment