6 ข้อควรรู้ สำรวจความเป็นผู้ประกอบการกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ของคุณ at iURBAN

6 ข้อควรรู้ สำรวจความเป็นผู้ประกอบการกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ของคุณ

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่รู้สึกว่าการใช้ชีวิตแบบที่เป็นอยู่ตอนนี้ไม่ใช่สิ่งที่ตอบโจทย์ตัวคุณ และกำลังมองหาความท้าทายใหม่ๆ ล่ะก็ คุณอาจเกิดมาเพื่อเป็นเจ้าของกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ก็ได้ เพราะการดำเนินกิจการเพื่อสังคมซึ่งมีเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจให้อยู่รอดไปและเติบโตพร้อมๆ กับการสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้กับสังคมไปในตัวนั้น เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นและเป็นนิมิตรหมายที่ดีมากทีเดียวในการช่วยแก้ปัญหาสังคมอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ วันนี้ โครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม (Banpu Champions for Change) ซึ่งก่อตั้งโดยบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) และสถาบัน Change Fusion มี 6 คำแนะนำจากคนรุ่นใหม่ในวงการอย่างคุณกิ๊ฟ-ปรีห์กมล จันทรนิจกร แห่งกิจการเพื่อสังคม Ma:D พื้นที่กลางสำหรับคนที่สนใจเรื่องสังคม สิ่งแวดล้อมได้เข้ามาร่วมมือกันขับเคลื่อนสร้างความเปลี่ยนแปลงตามประเด็นที่สนใจนั้น มาให้ได้ลองสำรวจทบทวนตนเองกันดู ว่าคุณมีโอกาสประสบความสำเร็จในฐานะผู้ประกอบการเพื่อสังคมมากแค่ไหน

1. คุณมีความรู้สึกว่า การได้ออกไปช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ สังคม และสิ่งแวดล้อมน่าสนุกกว่าการนั่งทำงานอะไรทั่ว ๆ ไป

นี่แหล่ะคือจุดเริ่มต้นของความคิดในการเป็นผู้ประกอบการในตัวคุณ แน่นอนว่าความคิดนี้เป็นอะไรที่มากกว่าการหลีกหนีจากความจำเจ การจะเป็นผู้ประกอบการกิจการเพื่อสังคมนั้น ต้องมีความต้องการมากกว่าการเป็นผู้ประกอบการทั่วๆ ไป คือ ต้องมีความรู้สึกอย่างแรงกล้าที่อยากแก้ไขปัญหาที่อยู่ใกล้ตัวมากพอที่จะลงมือทำกิจการเพื่อสังคมของตัวเองเพื่อจะช่วยแก้ไขหรือบรรเทาปัญหานั้นๆ เพราะเพียงแค่ความต้องการมีกิจการส่วนตัวนั้นไม่เพียงพอที่จะทำให้คุณเป็นผู้ประกอบการทางสังคมที่ประสบความสำเร็จได้

2. คุณมีความเข้าใจในปัญหาที่คุณอยากแก้ไขมากพอ

การจะเป็นผู้ประกอบการกิจการเพื่อสังคมที่ดีนั้น ต้องเริ่มจากการศึกษาหาข้อมูล ลงลึกให้ถึงต้นตอของปัญหา ถามไถ่คนในพื้นที่หรือผู้ที่เกี่ยวข้องหรือ คนที่คิดว่าจะมาเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในธุรกิจของคุณ  รวมถึงมีความชัดเจนว่าคุณต้องการแก้ปัญหาในด้านใด โดยไม่ได้จำกัดยู่แค่เพียง ด้านชุมชน ด้านสังคม ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการยกระดับคุณภาพชีวิตเท่านั้น

3. คุณพร้อมจะให้กำลังใจตัวเอง

การทำงานกับชุมชน สังคม และผู้คนไม่ใช่เรื่องง่าย พวกเขาเหล่านั้นอาจจะไม่ได้อ้าแขนรับความหวังดีของคุณ กลุ่มคนที่คุณอยากช่วยเหลืออาจไม่ได้ต้องการเปลี่ยนแปลงตัวเอง แม้ว่าสิ่งที่คุณนำเสนอจะสามารถช่วยพวกเขาให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้นได้ นอกจากนี้ การเป็นผู้ประกอบการนั้นสามารถเพิ่มความกดดันให้กับตัวคุณเองได้มากกว่าชีวิตการทำงานแลกค่าตอบแทนเสียอีก เพราะสิ่งที่คุณกำลังทุ่มเทแรงกายและแรงใจให้นั้นเป็นสิ่งที่คุณใส่ใจและให้ความสำคัญจริงๆ คุณจึงมีโอกาสที่จะเกิดความเครียดได้ง่ายมากจากการคาดหวังและกดดันตัวเอง คุณจึงต้องรู้จักให้อภัย และให้กำลังใจตนเองอย่างสม่ำเสมอหากสิ่งต่างๆ ไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้

4. คุณเป็นคนรู้จักปรับตัว เปิดใจ และไม่ยึดติด

ใบบางครั้งคุณอาจมีไอเดียตั้งต้นที่เป็นแรงผลักดันให้คุณได้เริ่มกิจการเพื่อสังคมของตัวเอง อาจมีหลายอย่างที่อยู่เหนือการควบคุมของคุณ เช่นเดียวกับการทำธุรกิจทั่วไป คุณต้องพร้อมรับความเสี่ยงและรู้จักปรับตัวไปตามสถานการณ์ ไอเดียที่คุณเคยคิดว่าต้องเวิร์คแน่ๆ ก็อาจจะไม่เวิร์คอย่างที่คิด แต่คุณพร้อมที่จะลองผิดลองถูก ไม่ยึดติดกับทฤษฎีโครงสร้างความสำเร็จของคนอื่น ด้วยการพยายามมองหาไอเดียหรือกลยุทธ์ใหม่ๆ ของตัวเอง ระหว่างทางคุณอาจพบเจอมุมมองใหม่ๆ ที่อาจจะทำให้กิจการเพื่อสังคมของคุณมีคุณค่าและทำประโยชน์ให้สังคมหรือให้โลกนี้ได้มากกว่าที่คุณตั้งใจไว้แต่แรกเสียอีก แต่เป้าหมายของคุณต้องชัดเจนพอที่จะเป็นแนวทางให้ตัวคุณเองได้

5. คุณรู้ตัวและเชื่อมั่นว่าคุณมีดีพอ

อย่าไปเปรียบเทียบกับคนอื่น บางทีคุณอาจจะยังไม่สามารถพูดได้เต็มปากหรอกว่าคุณเก่งเรื่องอะไรจริงๆ จนกว่าจะได้ลงมือทำมัน แต่คุณควรตั้งใจที่จะดึงทักษะที่คุณคิดว่าคุณมีดี (และอาจจะมีดีมากกว่าคนอื่นๆ หลายคนเสียด้วยซ้ำ) มาใช้ในการเริ่มต้นธุรกิจ มาจับเข้ากับประเด็นปัญหาที่คุณเลือก ที่สำคัญคุณต้องมีความมุ่งมั่นที่จะทำมันอย่างเต็มความสามารถ

6. คุณชอบที่จะพบปะทำความรู้จักกับคนและความคิดใหม่ๆ

การเดินทางสู่ความเป็นผู้ประกอบการกิจการเพื่อสังคมนั้นเป็นหนทางที่เต็มไปด้วยมิตรภาพ อาจมีคนอีกหลายคนที่มีอุดมการณ์ร่วมกับคุณอยู่ตอนนี้ก็ได้ ในประเทศไทยยังมีเครือข่ายผู้ประกอบการเพื่อสังคมหรือผู้ที่อยากทำกิจการเพื่อสังคมอีกมากมายที่รอให้คุณได้ทำความรู้จักและแลกเปลี่ยนมุมมอง เป็นทั้งผู้ที่สามารถให้คำแนะนำปรึกษาและร่วมผลักดันอุดมการณ์ให้เกิดเป็นผลที่จับต้องได้ด้วยทักษะความสามารถที่ส่งเสริมและแลกเปลี่ยนกันได้

สำหรับใครที่มีความฝันอยากมีกิจการเพื่อสังคมของตนเองและร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีให้กับสังคม ลองลบความคิดที่ว่าไม่พร้อมและความกลัวออกไป แล้วเริ่มต้นสานฝันให้ตัวเองในโครงการ “พลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคมปีที่ 7” โดยสามารถติดตามข้อมูลโครงการ และการเปิดรับสมัครได้ที่เฟซบุ๊ก  www.facebook.com/banpuchampions

เกี่ยวกับ บมจ. บ้านปูฯ

บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เป็นผู้บุกเบิกด้านพลังงานชั้นแนวหน้าของเอเชีย ดำเนินธุรกิจถ่านหิน ธุรกิจไฟฟ้า และพลังงานที่เกี่ยวเนื่องอย่างครบวงจร ใน 9 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย จีน ออสเตรเลีย ลาว มองโกเลีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา

“พลังความรู้ คือพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา”

บ้านปูฯ เชื่อว่า “การเรียนรู้”  เป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนา “คน”  ซึ่งจะขับเคลื่อนชุมชนและสังคมให้พัฒนาอย่างยั่งยืนในระยะยาว โครงการซีเอสอาร์ของบ้านปูฯ ในทุกประเทศ จึงมุ่งเน้นสนับสนุนและส่งเสริมการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องให้กับเยาวชนและชุมชนในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง การดำเนินชีวิตประจำวัน การเรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียน การฝึกฝนเพื่อพัฒนาศักยภาพและทักษะชีวิต หรือการค้นคว้า เรียนรู้ และค้นพบองค์ความรู้ด้วยตนเองหรือร่วมกับคนอื่นๆ 

The post 6 ข้อควรรู้ สำรวจความเป็นผู้ประกอบการกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ของคุณ appeared first on iUrban.

Credit: 6 ข้อควรรู้ สำรวจความเป็นผู้ประกอบการกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ของคุณ Web: iURBAN Fanpage: facebook.com/iURBAN.in.th

Comments

Popular posts from this blog

19 ป้ายโฆษณา (Billboard) สุดครีเอทที่ออกแบบอย่างสร้างสรรค์จนต้องจำแบรนด์ได้ at iURBAN

DIY : อมยิ้มน้ำตาลคริสตัลแบบโฮมเมด at iURBAN

สามารถตรวจสอบเครื่องสำอางค์เกาหลีว่าเป็นของแท้หรือไม่ผ่านทาง HiddenTag at iURBAN